เมื่อ : 30 มี.ค. 2568

นครราชสีมา-การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นำคณะทัวร์เที่ยวโคราชเปิดเส้นทางท่องเที่ยวใหม่เชื่อมโยง ห้วยแถลง-พิมาย ตามรอยความเชื่อ 3 ศาสนา พุทธ คริสต์ ฮินดู หวังกระจายรายได้สู่ชุมชนผ่านการท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานจังหวัดนครราชสีมา จัดงาน Amazing Grand Moment จัดแสดงแสงเสียง Mini light & Sound Phimai ประจำปี 2568 พร้อมเปิดเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ เชื่อมโยงการท่องเที่ยวในพื้นที่อำเภอห้วยแถลง และอำเภอพิมาย เพื่อเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกใหม่ๆ ในการท่องเที่ยว และเป็นการกระจายรายได้เข้าสู่ชุมชน โดยเป็นการตามรอยความเชื่อของ 3 ศาสนาที่แตกต่างกัน แต่สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข

โดยเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ นักท่องเที่ยวจะได้เยี่ยมชมโบสถ์คริสต์เก่าแก่อายุเกือบ 80 ปี ที่วัดนักบุญเทเรซา บ้านโนนแก้ว ตำบลตะโก อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา ตามรอยความขัดแย้งระหว่างศาสนาในช่วงสงครามอินโดจีน ก่อนที่ปัจจุบัน ชาวบ้านจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างไร้ความขัดแย้ง นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมร้านทุ่งนากาแฟ ซึ่งเป็นทั้งร้านกาแฟและพิพิธภัณฑ์รวบรวมภูมิปัญญาชาวนาไทย ให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมประวัติศาสตร์การทำนามาตั้งแต่ยุคโบราณ ก่อนที่จะวิวัฒนาการมาใช้เครื่องทุ่นแรงในปัจจุบัน 

นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังได้มีโอกาสกราบไหว้องค์หลวงพ่อศรีพิทักษ์ชน พระคู่บ้านคู่เมืองชาวอำเภอห้วยแถลง ซึ่งได้รับการรับรองจากกรมศิลปากร ว่า เป็นพระนาคปรกที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย อายุกว่า 1200 ปี ถูกสร้างขึ้นในยุคสมัยทวาราบดี ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ดินแดนแถบนี้ในอดีต มีความรุ่งเรื่องของศาสนาพุทธมาก่อนที่จะได้รับอิทธิพลของชนชาติขอม จนมีการนับถือศาสนาฮินดู อันนำมาซึ่งการก่อสร้างปราสาทหินพิมายที่อยู่ใกล้กัน

ส่วนจุดสุดท้าย นักท่องเที่ยวเดินทางสู่ปราสาทหินพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เยี่ยมชมปราสาทหินฮินดูเก่าแก่ที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ราวพุทธศตวรรษที่ 16 อายุประมาณ 1000 ปี เพื่อใช้เป็นเทวสถานของศาสนาพราหม์-ฮินดู โดยช่วงกลางคืน มีการแสดงประกอบแสง สี เสียง “ชุดวิมายนาฏการ” เพื่อบอกเล่าถึงความเจริญรุ่งเรืองเมื่อครั้งอดีตกาลของเมืองพิมายและอารยธรรมขอมโบราณ 

ภายใต้กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดย ททท. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมสนับสนุนการจัดกิจกรรมฯ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการนำเสนอประสบการณ์การท่องเที่ยว ที่แฝงด้วยเอกลักษณ์อันมีคุณค่าภายในท้องถิ่น เป็นการกระตุ้นให้เกิดการเดินทางเข้ามาภายในจังหวัดนครราชสีมา อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการใช้จ่ายในพื้นที่ และเพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามในท้องถิ่นให้คงอยู่สืบต่อไป