แจ้งข่าวดีให้ชาวนาได้เฮ ! มีปริมาณน้ำทำนาปรังทั่วประเทศ 10.02 ล้านไร่
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงข่าวถึงการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งเพื่อการเพาะปลูกปี 2567/2568 พร้อมด้วย นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสุริยพล นุชอนงค์ อธิบดีกรมชลประทาน นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน และนายอานนท์ นนทรีย์รองอธิบดีกรมการข้าว
ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ได้เตรียมแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งเพื่อการเพาะปลูก ปี 2567/2568 ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567-30 เมษายน 2568 ภาพรวมทั้งประเทศ โดยบริหารจัดการจากปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ที่มีปริมาณน้ำใช้การอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก รวมทั้งสิ้น 44250 ล้าน ลบ.ม. (ข้อมูล 1 พ.ย. 67) พบว่าปริมาณน้ำมากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 3863 ล้าน ลบ.ม. และจากปริมาณน้ำดังกล่าวทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกได้อีก 1.2 ล้านไร่ รวมแผนเพาะปลูกข้าวนาปรังทั่วประเทศในปีนี้ 10.02 ล้านไร่ ซึ่งวางแผนจัดสรรน้ำฤดูฝน ปี 2568 จำนวน 29170 ล้าน ลบ.ม. และสำรองไว้ใช้ในต้นฤดูฝน ปี 2568 จำนวน 15080 ล้าน ลบ.ม. สำหรับ 4 กิจกรรม ประกอบด้วย 1) เพื่ออุปโภค-บริโภค 3050 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 10% จากแผนฯ 2) รักษาระบบนิเวศและอื่น ๆ 8765 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 30% จากแผนฯ3) เพื่อเกษตรกรรม 16555 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 57%จากแผนฯ และ 4) เพื่ออุตสาหกรรม 800 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 3% จากแผนฯ
ศ.ดร.นฤมล กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้จัดสรรน้ำไปแล้ว (ตั้งแต่ 1 พ.ย.67 – 12 พ.ย. 67) 991 ล้าน ลบ.ม. (คิดเป็น 4% จากแผนฯ คงเหลือที่ต้องจัดสรรอีก 28179 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น96% จากแผนฯ) ปัจจุบัน (ข้อมูล 12 พ.ย. 67) มีปริมาณน้ำเก็บกัก 63908 ล้าน ลบ.ม. และปริมาณน้ำใช้การ 39922 ล้าน ลบ.ม. และคาดการณ์ว่า 1 พ.ค. 68 จะมีปริมาณน้ำเก็บกัก 44032 ล้าน ลบ.ม. และปริมาณน้ำใช้การ 20489 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอที่จะบริหารจัดการเพื่อการเกษตรจนสิ้นสุดฤดูแล้งนี้
กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ แม้ว่าในปีนี้จะเกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ แต่ยังบริหารจัดการกักเก็บน้ำได้ในปริมาณมาก และวางแผนจัดสรรสำหรับเพาะปลูกช่วงฤดูแล้งได้อย่างเพียงพอ
“จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า ในบางพื้นที่เกษตรกรสามารถทำนาปรังต่อเนื่องจากนาปีได้ ตั้งแต่ก่อนวันที่ 1 พ.ย. 67 ไปแล้วกว่า 0.75 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 0.55 ล้านไร่ โดยใช้ประโยชน์จากน้ำช่วงน้ำหลากในการเพาะปลูก ขณะที่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้แล้วเสร็จก่อนแผนที่วางไว้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเริ่มเพาะปลูกข้าวนาปรังได้เร็วยิ่งขึ้น ช่วยให้การปรับปฏิทินการเพาะปลูกมีประสิทธิภาพ พร้อมรองรับการเก็บเกี่ยวให้ทันก่อนเข้าสู่ฤดูน้ำหลากในปีถัดไป” ศ.ดร.นฤมล กล่าว
ศ.ดร.นฤมล ยังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2568 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 เพื่อดำเนินแผนงาน/โครงการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2567 จำนวน 8 โครงการ กรอบวงเงิน 2553009800 บาท ซึ่งรวมถึงโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวของเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ที่กรมการข้าวได้เตรียมเมล็ดพันธุ์สำหรับเพาะปลูกฤดูกาลผลิตที่จะถึง อย่างไรก็ตามแม้ว่าในปีนี้จะมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับใช้อุปโภค-บริโภค แต่ต้องขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรและประชาชนให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อความยั่งยืนทางทรัพยากรน้ำต่อไป
สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้ได้รวม 14992 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่แล้วถึง 3407 ล้าน ลบ.ม. มีการวางแผนสนับสนุนพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง จำนวน6.47 ล้านไร่ ปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณ 0.75 ล้านไร่ ในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา
พื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลอง มีปริมาณน้ำใช้ได้ถึง 9514 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่ผ่านมา 781 ล้านลูกบาศก์เมตรซึ่งเพียงพอสำหรับการอุปโภคและบริโภค รวมถึงเพาะปลูกข้าวนาปรังตามแผนที่วางไว้ประมาณ 0.84 ล้านไร่
ส่วนในพื้นที่ภาคเหนือ มีปริมาณน้ำใช้การได้กว่า 3846 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าปีที่ผ่านมา 1367 ล้านลูกบาศก์เมตร กรมชลประทานได้วางแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังไว้ 0.63 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 0.2 ล้านไร่
ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปริมาณน้ำที่ใช้ได้รวม 7375 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 1333 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากมีปริมาณฝนตกทางตอนล่างของภาคค่อนข้างน้อย แต่ยังสามารถเพิ่มพื้นที่การเพาะปลูกจากเดิมได้ถึง 0.06 ล้านไร่ รวมแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังได้ 1.10 ล้านไร่
โดยในพื้นที่ตอนบน อาทิ จังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวนาปรังได้อย่างเหมาะสมสำหรับพื้นที่ตอนล่างบางแห่ง อาทิ จังหวัดนครราชสีมา และบุรีรัมย์ มีฝนตกน้อยและปริมาณน้ำลดลง ได้วางแผนจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ เพื่อสนับสนุนน้ำในการอุปโภคบริโภคให้เพียงพอตลอดช่วงหน้าแล้งนี้
ศ.ดร.นฤมล กล่าวต่อว่า กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน พร้อมขับเคลื่อนมาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2567/68 ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)เห็นชอบอย่างเคร่งครัด ประกอบด้วย 8 มาตรการที่จะบูรณาการร่วมกัน คือ 1) คาดการณ์และป้องกันพื้นที่เสี่ยง 2) สร้างความมั่นคงน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร พร้อมปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ 3) กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 4) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำและลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน
5) เฝ้าระวังและแก้ไขคุณภาพน้ำ 6) เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน/องค์กรผู้ใช้น้ำ 7) สร้างการรับรู้ประชาสัมพันธ์ และ 8) ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน ทั้งนี้ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งที่จะมาถึง รวมทั้งเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดกับเกษตรกรและประชาชนทั่วประเทศตามนโยบายของรัฐบาล