ชป.วางแผนรับมืออุทกภัยคาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการ ติดตามโครงการ/แผนงานการแก้ปัญหาแหล่งน้ำพื้นในที่คาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา โดยมี นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน นายวิทยา แก้วมี รองอธิบดีกรมชลประทาน นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน นายเฉลิมชัย ตรีนรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 17 รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 16 นายทรงพล สวยสม ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล นายสิริพล รักษนาเวศ ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้
โดยจุดแรก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ได้เดินทางไปยังโครงการคลองระบายน้ำคลองเปรม ตำบลวัดสน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา เพื่อติดตามแผนงานการแก้ปัญหาแหล่งน้ำในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ สำหรับโครงการคลองระบายน้ำคลองเปรมพร้อมอาคารประกอบ มีความยาว 2.5 กิโลเมตร จากเดิมระบายน้ำได้ 4 ลบ.ม./วินาที ปรับปรุงใหม่ให้สามารถระบายน้ำได้ 10 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะทำให้คลองเปรมสามารถรองรับน้ำและส่งน้ำสนับสนุนคลองพลเอกอาทิตย์กำลังเอกได้มากขึ้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างขอตั้งงบประมาณปี 2569
ต่อมาคณะฯ ได้เดินทางไปยังสถานีสูบน้ำสนามชัย ตำบลสนามชัย อำเภอสทิงพระ เพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ (ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอระโนด อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสทิงพระ และอำเภอสิงหนคร) เป็นที่ทราบกันดีว่าคาบสมุทรสทิงพระ มีลักษณะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ เมื่อเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จะทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง สร้างความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรกรรม ที่อยู่อาศัยของประชาชน กรมชลประทาน ได้ก่อสร้างสถานีสูบน้ำสนามชัย เพื่อเร่งระบายน้ำในคลองหนังลงสู่อ่าวไทย ซึ่งสถานีสูบน้ำแห่งนี้ได้มีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 4 เครื่อง ช่วยเร่งระบายน้ำในช่วงน้ำทะเลหนุนและในช่วงน้ำหลาก ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้กว่า 1120 ครัวเรือน
จากนั้นคณะฯ ได้เดินทางต่อไปยังหอประชุมรัตนโกสินทร์(ศาลาประชาคมอำเภอสทิงพระ) ที่ว่าการอำเภอสทิงพระ เพื่อรับฟังปัญหาของเกษตรกรในพื้นที่ พร้อมมอบนโยบายและปัจจัยการผลิต 8 รายการ อาทิ โฉนดเพื่อการเกษตร พันธุ์สัตว์น้ำ ต้นกล้า เมล็ดพันธุ์พืช สารชีวพันธุ์ ผลิตภัณฑ์จากยางพารา(รองเท้าบูท) เป็นต้น
ทั้งนี้ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำให้กรมชลประทาน จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ ให้พร้อมเข้าปฏิบัติงานได้อย่างทันท่วงที พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด