รวมพลคนใต้ ลงแขกพิฆาต ”ปลาหมอคางดำ”
หากได้ติดตามปลาหมอคางดำกันมาสักระยะ จะพบว่าพื้นที่ที่ยังมีปลาหมอคางดำระบาดหนัก คือ จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดสงขลา ขณะที่ประมงจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และอีกหลายจังหวัดที่ประกาศเป็นพื้นที่การแพร่ระบาดของปลาชนิดนี้ รายงานปริมาณปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินการจับปลาและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ตามวิธีการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แนะนำ ทำให้จังหวัดเหล่าพร้อมเดินหน้าตามขั้นต่อไป คือ ปล่อยปลาผู้ล่า เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำวัยอ่อน เตรียมความพร้อมในการปล่อยสัตว์น้ำ ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในลำดับต่อไป
จังหวัดนครศรีธรรมราช มีรายงานว่าปลาหมอคางดำยังระบาดหนักที่อำเภอหัวไทรและอำเภอปากพนัง ขณะที่จังหวัดสงขลา พบมากที่อำเภอระโนด นับว่าทั้งสองจังหวัดการระบาดยังอยู่ในพื้นที่จำกัด หากมีการจัดการตามคำแนะนำทางวิชาการของกรมประมง คือ การจับปลาออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุดมากที่สุด ตามด้วยปล่อยปลาผู้ล่า และนำปลาที่จับได้ไปแปรรูปเพิ่มมูลค่า รวมถึงบริโภคในครัวเรือน น่าจะควบคุมปลาไม่ให้แพร่กระจายออกไปได้
ย้อนไปเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ทั้งจังหวัดสงขลาและนครศรีธรรมราช ตื่นตัวจัดกิจกรรมจับปลาหมอคางดำยิ่งใหญ่ภายใต้แนวคิด “ตามล่าปลาหมอคางดำ” และ “ปราบวายร้ายแห่งลุ่มน้ำเมืองคอน” ตามลำดับ การจัดงานมีทั้งแข่งขันจับปลาและนำปลามาปรุงเป็นเมนูท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมให้มีการจับและบริโภค โดยเฉพาะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดบ่อบำบัดน้ำเสียของโครงการชลประทานเพื่อการเลี้ยงกุ้ง เนื้อที่ 184 ไร่ จับปลาหมอคางดำได้ 3 ตัน เห็นความรัก-ความสามัคคีของพี่น้องชาวใต้ที่มาร่วมกันลงแขกจับปลาแล้ว ทำให้เกิดไอเดียในการจัดกิจกรรมรวมพลลงแขกจับปลาของทั้งสองจังหวัดที่ห่างกันประมาณ 200 กว่ากิโลเมตร
โดยมีพ่อเมือง (ผู้ว่าราชการจังหวัด) สงขลาและนครศรีธรรมราช เรียกประชุมหารือผนึกกำลังกันทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน และผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ ร่วมจับปลาข้ามจังหวัดนำปลาหมอคางดำที่เหลือออกจากแหล่งน้ำให้มากที่สุด เพื่อสกัดกั้นและควบคุมปลาให้อยู่ในพื้นที่จำกัด และพร้อมปล่อยปลาผู้ล่าทั้งปลากะพงและปลาอีกง ลงในแหล่งน้ำเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำวัยอ่อนไม่ให้เกิดการเจริญพันธุ์
เชื่อว่าแนวทางดังกล่าวจะช่วยให้การแก้ปัญหาปลาหมอคางดำเกิดผลสัมฤทธิ์ได้ดีกว่าประกาศว่ายังมีปลาระบาดในพื้นที่ต่างๆ หาเสียงสนับสนุนในการนำตัวผู้นำเข้ามารับผิดชอบ วิธีการเหล่านี้ไม่ช่วยให้ปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำลดลง ในทางกลับกันปลาจะยังคงอยู่และแพร่ระบาดต่อไป ซ้ำร้ายยังเป็นการบั่นทอนกำลังใจของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการที่ปลาหมอคางดำเล็ดลอดเข้าไปในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ จึงควรเดินหน้าตามแนวทางปฏบัติที่กรมประมงกำหนดไว้ คือ จับ กิน และแปรรูปสร้างรายได้ให้ชุมชน เพื่อจูงใจให้มีการจับปลามากขึ้นและนำปลาไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า
ปัจจุบัน หลายหน่วยงานภาครัฐ ทั้งกรมประมง กรมพัฒนาที่ดินและกรมราชทัณฑ์ ผนึกกำลังกันนำปลาหมอคางดำที่จับได้จากกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” ไปใช้ประโยชน์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จากการนำไปทำปลาป่น น้ำปุ๋ยหมักชีวภาพ และล่าสุด กรมราชทัณฑ์ นำปลาหมอคางดำไปประกอบอาหารให้ผู้ต้องขังในเรือนจำ ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้ต้องขังฝึกอาชีพการทำน้ำปลา ซึ่งกิจกรรมที่หลากหลายและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากปลาหมอคางดำ ล้วนเป็นปฏิบัติการที่ส่งผลดีต่อการกำจัดและควบคุมปลาหมอคางดำให้อยู่ในพื้นที่จำกัด ตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้
หากการ “รวมพลคนใต้” เพื่อล้างบางปลาหมอคางดำข้ามจังหวัดระหว่างสงขลากับนครศรีธรรมราชสำเร็จ จะเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดที่อยู่ใกล้กัน เช่น สมุทรสาครและสมุทรสงคราม หรือ อาจข้ามไปถึงเพชรบุรี เกื้อกูลกัน ช่วยกันจับปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติสลับหมุนเวียนกันไป และนำไปใช้ประโยชน์ตามแต่ความถนัดของพื้นที่ และปล่อยปลาผู้ล่าอย่างเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถควบคุมปลาหมอคางดำให้อยู่ในพื้นที่จำกัดได้ถูกต้องตามหลักวิชาการ รวมถึงการถ่ายทอดความรู้ให้กับชุมชนที่มีปลาแพร่ให้สามารถจัดการกับปลาที่หลงเหลือในแหล่งได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะเป็นหลักประกันให้กับคนไทยว่า แม้ปลาหมอคางดำจะกำจัดให้หมดไม่ได้ แต่มนุษย์นี่แหละจะควบคุมปลาให้ได้.
โดย...บดินทร์ สิงหาศัพท์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม