เมื่อ : 29 พ.ย. 2567

น้ำท่วมใต้วิกฤติ ฝนกระหน่ำไม่หยุด นราธิวาสอ่วม ถนนสายหลักถูกตัดขาดอย่างสิ้นเชิง การสัญจรเป็นอัมพาต 8 ชุมชนเมืองสุไหงโก-ลก จมบาดาล ที่ยะลาหนักไม่แพ้กัน กู้ภัยรุดช่วยตายายป่วยติดเตียง ถนนเส้นทางไปสกายวอล์กอัยเยอร์เวงถูกน้ำเซาะทรุดใช้ไม่ได้ เช่นเดียวกับปัตตานีเจอฝนถล่มมากถึง 519 มม. สงขลาสุดระทึก น้ำไหลทะลักเข้าศูนย์อพยพ อบต. ต้องย้ายผู้ประสบภัยหนีน้ำโกลาหล

 

ที่ จ.นราธิวาส ยังมีฝนตกครอบคลุมทั้ง 13 อำเภอ ส่งผลให้แม่น้ำสายหลัก 3 สายคือ แม่น้ำบางนรา แม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำโก-ลก เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนประชาชน ถนนสายหลัก 6 สาย ถูกน้ำท่วมถูกตัดขาดอย่างสิ้นเชิง ประกอบด้วยถนนสายศูนย์ราชการ อ.เมืองนราธิวาส ถนนสายรอยต่อระหว่างบ้านมะนังตายกับ อ.เมืองนราธิวาส ถนนสายบ้านบาโงสะโต อ.ระแงะ ถนนสายบ้านป่าไผ่ อ.ระแงะ ถนนสายบ้านตันหยงมัส อ.ระแงะ และถนนสายบ้านบูเก๊ะตา อ.แว้ง ขณะที่โรงเรียนต้องประกาศหยุดการเรียนการสอนชั่วคราวแล้ว 68 แห่ง เนื่องจากน้ำท่วมสูง เด็กนักเรียนไม่สามารถเดินทางมาเรียนได้

 

ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส แม่น้ำโก-ลก เอ่อล้นท่วม 8 ชุมชนริมแม่น้ำ ได้แก่ ชุมชนหัวสะพาน ชุมชนโปฮงยามู ชุมชนท่าประปา ชุมชนกือดาบารู ชุมชนเสาสัญญาณ ชุมชนท่ากอไผ่ ชุมชนท่าโรงเลื่อย และชุมชนบือเร็ง ล่าสุดน้ำเพิ่มจากวันก่อนอีก 20 ซม. ทำให้ระดับน้ำสูงขึ้นประมาณ 2 เมตร ชาวบ้านถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ทหารจากกองร้อย 151 พัน. 2 ค่ายกัลยาณิวัฒนาต้องลุยฝ่ากระแสน้ำไปช่วยอพยพเด็กเล็กและคนชราไปไว้ที่ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยชั่วคราวภายในโรงเรียนเทศบาล 4 บ้านทรายทอง จำนวน 182 คน มีนางสุชาดา พันธ์นรา นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลกจัดเจ้าหน้าที่คอยดูแลช่วยเหลือจนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

 

ส่วนใน อ.เมืองนราธิวาส ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำบางนราไหลท่วมอย่างหนัก บ้านเรือนที่อยู่ในซอยประชาสันติ เขตเทศบาลเมืองนราธิวาส น้ำไหลทะลักล้นคลองชลประทานทางศูนย์ราชการเข้าท่วมบ้านสูงเกือบ 1 เมตร เจ้าหน้าที่ต้องใช้เรือท้องแบนเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและย้ายไปอยู่ในที่ปลอดภัย บางส่วนไม่ยอมอพยพไปไหน เพราะเป็นห่วงทรัพย์สินในบ้าน ชาวบ้านบอกว่าปีนี้น้ำท่วมหนักกว่าทุกปี เจอทั้งน้ำฝนและทะเลหนุน ทำให้การระบายน้ำทำได้ช้า ขณะที่ อ.ระแงะ น้ำท่วมพื้นที่หมู่ 1 ต.ตันหยงมัส สูงประมาณ 1.70 เมตร ชาวบ้านเดือดร้อนกว่า 150 ครัวเรือน ตำรวจน้ำนราธิวาสนำเรือยางไปช่วยอย่างเร่งด่วน

 

ที่ จ.ยะลา ยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง น้ำท่วมขยายวงกว้างได้รับผลกระทบแล้ว 5 อำเภอ โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.เมืองยะลา ที่ ต.หน้าถ้ำ บ้านเรือนประชาชนในพื้นที่หมู่ 1 หมู่ 2 หมู่ 3 และหมู่ 4 ได้รับความเดือดร้อนแล้วเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับน้ำในคลองละแอ ที่ไหลมาจาก อ.ยะหา มาสมทบกับปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ ส่งผลให้น้ำท่วมสูงเกือบ 2 เมตร ชาวบ้านต้องขนข้าวของหนีน้ำไปอยู่บนชั้นสอง ส่วนบ้านชั้นเดียวไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ขณะที่พื้นที่เศรษฐกิจการค้าบริเวณถนนศรีบำรุง ยะลาสายกลาง น้ำเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

 

ด้าน ดร.รัตนา สมสกุลรุ่งเรือง ประธานมูลนิธิร่วมกตัญญู มอบหมายให้ “ท็อป-บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมพิเศษ มูลนิธิร่วมกตัญญู นำอาสาสมัครมูลนิธิ 23 นาย เรือท้องแบน 4 ลำ และรถออฟโรด 6 คัน เข้าไปช่วยผู้ป่วยติดเตียงตายาย 2 คนในบ้านเลขที่ 56/5 ซอยพุทธไชยารักษ์ 2 หมู่ 4 บ้านมะหะ ต.หน้าถ้ำ อ.เมืองยะลา ที่ถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตรนำส่ง รพ.ศูนย์ยะลา ระหว่างเส้นทางพบฝูงวัวของชาวบ้านลอยคอหมดแรงกำลังจะจมน้ำ โดยเฉพาะลูกวัว เจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือนำไปปล่อยบนที่สูงพร้อมจัดหาหญ้าให้กินเพื่อรอเจ้าของรับไปดูแล ขณะเดียวกันมูลนิธิ อยู่ระหว่างลำเลียงถุงยังชีพ จัดตั้งโรงครัวสนาม ประกอบอาหารปรุงสุกนำไปแจกจ่ายผู้ประสบภัย

 

พล.ต.ท.ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี ผบช.ภ.9 ร่วมกับพล.ต.ต.เสกสันต์ ชูรังสฤษฎิ์ ผบก.ภ.จ.ยะลา นำเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบอุทกภัยและนำข้าวเหนียวไก่จำนวน 500 ห่อ ไปแจกจ่ายให้ประชาชนใน ต.สะเตงนอก อ.เมืองยะลา พล.ต.ท.ปิยะวัฒน์เผยว่า ปีนี้น้ำท่วมหนักเป็นปรากฏการณ์ในรอบ 30 กว่าปี สาเหตุมาจากฝนตกต่อเนื่อง 3-4 วันแล้ว ตอนนี้ก็ยังตกอยู่ จากการประเมิน สถานการณ์ตามที่พยากรณ์ว่าจะตกถึงวันที่ 1 ธ.ค. ตอนนี้คิดว่าน่าจะยาวกว่านั้น เนื่องจากมวลน้ำมาจากเขื่อนบางลาง แม่น้ำปัตตานี และแม่น้ำสายบุรีด้วย ตร.ภาค 9 มี 6 จังหวัด 51 อำเภอ หนักสุดที่เทศบาลนครยะลา ส่วนตำรวจที่ได้รับผลกระทบสั่งการให้หัวหน้าโรงพักลงไปดูที่พักตำรวจ และอีกส่วนเรื่องสถานที่รับแจ้ง เพราะบางโรงพักถูกน้ำท่วม แต่การบริการประชาชนยังเหมือนเดิม

 

ด้าน อ.เบตง จ.ยะลา ฝนตกไม่หยุด น้ำป่าสีแดงขุ่นไหลบ่าลงคลองต่างๆเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร น้ำไหลเชี่ยวกัดเซาะตลิ่งพังทลายหลายจุด ส่วนถนนทางหลวงสาย 410 (ยะลา-เบตง) เกิดดินสไลด์ทับเส้นทางเกือบ 10 จุด ในพื้นที่ ต.ตาเนาะแมเราะ และ ต.อัยเยอร์เวง บางจุดมีต้นไม้โค่นล้มลงมาทับสายไฟ ส่วนถนนบ้านวังใหม่-สกายวอล์กทะเลหมอกอัยเยอร์เวง หมู่ 5 ต.อัยเยอร์เวง ถูกน้ำกัดเซาะถนนทรุดยาวกว่า 15 เมตร ลึกกว่า 20 เมตร รถทุกชนิดไม่สามารถผ่านได้ นักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไปชมสกายวอล์กทะเลหมอกอัยเยอร์เวง ต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางบ้าน กม.32 แทน

 

ที่ จ.ปัตตานี ล่าสุดจังหวัดได้ประกาศให้ทั้ง 12 อำเภอ เป็นพื้นที่เกิดภัยพิบัติแล้ว โดยที่ อ.ยะรัง แม่น้ำปัตตานีเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่หมู่ 1 และหมู่ 2 ต.เขาตูม ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 22 นำกำลังพลพร้อมรถบรรทุกหกล้อและเรือยางไปช่วยเหลือชาวบ้าน ผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงอย่างทุลักทุเล ส่วนบ้านเกาะบาตอ หมู่ 5 ต.เมาะมาวี ชาวบ้านพบศพหญิงลอยน้ำกลางทุ่ง เจ้าหน้าที่นำเรือยางนำศพขึ้นมาทราบชื่อ น.ส.รอฮานี วิชา อายุ 42 ปี สอบถามทราบว่าผู้ตายเป็นผู้พิการทางสมอง ช่วงเย็นที่ผ่านมาออกไปเล่นน้ำริมถนนที่น้ำท่วมหนัก ถูกน้ำซัดจมหายไปตามลำคลอง กระทั่งศพโผล่ในทุ่งห่างจุดเกิดเหตุ 1 กม.

 

ขณะที่เขตเทศบาลเมืองปัตตานี แม่น้ำปัตตานีเอ่อท่วมบ้านริมน้ำ โดยเฉพาะ ต.จะบังติกอ ระดับน้ำสูง 50-70 ซม. ถนนจะบังติกอ และถนนกะลาพอ เส้นทางไปตลาดเปิดท้ายน้ำสูงเกือบครึ่งเมตร ส่วนเขตเศรษฐกิจ ถนนพิพิธภัณฑ์ ต.อาเนาะรู น้ำสูง 30 ซม. ร้านค้าสองฝั่งถนนต้องนำกระสอบทรายมาวางกั้นน้ำ ป้องกันสินค้าเสียหาย ด้านนางพาตีเมาะ สะดียามู ผวจ.ปัตตานี พร้อมด้วยนายวันสุกรี แวมามะ นายอำเภอเมืองปัตตานี ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยหมู่ 1 และหมู่ 2 ต.ปะกาฮะรัง อ.เมืองปัตตานี พื้นที่ติดแม่น้ำปัตตานี ล่าสุดมีชาวบ้านเดือดร้อนแล้วกว่า 500 ครัวเรือน นางพาตีเมาะเผยว่า ปีนี้ฝนตกหนักมากเฉลี่ยแต่ละอำเภออยู่ที่ 200 มิลลิเมตร หนักสุดคือ อ.ยะรัง ปริมาณน้ำฝนมากถึง 519 มิลลิเมตร ทำให้น้ำไหลหลากลงมาปริมาณมาก

 

ที่ จ.สงขลา เกิดฝนตกหนักน้ำท่วมหลายอำเภอ โดยเฉพาะ อ.จะนะ ล่าสุดช่วงเช้ามืดที่ผ่านมามวลน้ำจาก อ.นาทวี ไหลทะลักเข้าตัวเมืองจะนะจมบาดาล ชาวบ้านขนข้าวของหนีน้ำกันแทบไม่ทัน ส่วน อ.เทพา น้ำไหลท่วมสถานที่ราชการ ทั้งที่ว่าการอำเภอเทพา และ สภ.เทพา รวมถึงตลาดเทพาเสียหายเป็นบริเวณกว้าง น้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทะลักเข้าท่วมศูนย์อพยพผู้ประสบภัยน้ำท่วม อบต.เทพา รถยนต์จมน้ำหลายคัน ต้องอพยพผู้ประสบภัยหนีน้ำโกลาหล เช่นเดียวกับ อ.สะเดา เจ้าหน้าที่ปักธงแดงเตือนน้ำท่วมชุมชนบ้านไพร ชุมชนท่าพรุ และหมู่บ้านสะพานม้า พร้อมประสานตำรวจ ตชด.437 นำเรือท้องแบนอพยพชาวบ้าน ส่วน อ.นาทวี ตำรวจ ตชด.43 ช่วยอพยพผู้สูงอายุบ้านพลีใต้ ต.นาทวี และสำนักปฏิบัติธรรมหลวงพ่อชุม บ้านโคกจง หมู่ 3 ต.ทับ หลังถูกน้ำท่วมหนัก

 

ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมประชาชนที่ประสบอุทกภัยใน จ.สงขลา รับฟังรายงานสรุปสถานการณ์จากสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 8 กรมทรัพยากรน้ำที่ติดตามการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยด้านน้ำ โดยมีระบบติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชม. เป็นระบบเตือนภัยล่วงหน้าน้ำท่วม-ดินถล่ม (Early Warning System) จำนวน 214 สถานี ครอบคลุม 559 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคใต้ คือ นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จากนั้นไปตรวจการติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ อ.ควนเนียง จ.สงขลา เพื่อพร่องน้ำออกรองรับปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าพื้นที่ต่อไป

 

ที่ จ.พัทลุง สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ริมทะเล สาบสงขลา 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ควนขนุน อ.เมืองพัทลุง อ.เขาชัยสน อ.บางแก้ว และ อ.ปากพะยูน ยังคงวิกฤติหลายพื้นที่ เช่นเดียวกับ 6 อำเภอที่ตั้งอยู่แนวเทือกเขาบรรทัด ได้แก่ อ.กงหรา อ.ศรีนครินทร์ อ.ป่าบอน อ.ตะโหมด อ.ศรีบรรพต และ อ.ป่าพะยอม ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก ล่าสุด น้ำป่าจากเทือกเขาบรรทัดไหลหลากลงสู่น้ำตกไพรวัลย์และน้ำตกโตนแพรทอง อ.กงหรา เจ้าหน้าที่แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ริมน้ำตกทั้งสองแห่งเฝ้าระวังน้ำท่วมและขนย้ายทรัพย์สินของมีค่าไปไว้ในที่สูง ส่วนกรณีนางโชติกา พรหมอักษร อายุ 49 ปี ชาวบ้านหมู่ 8 ต.ท่าแค อ.เมืองพัทลุง ที่พลัดตกน้ำหายไปในคลองบ้านแกะแตระตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย. ล่าสุด พบศพลอยน้ำห่างจากจุดเกิดเหตุ 500 เมตร

 

ที่ จ.สตูล เกิดฝนตกหนักตั้งแต่เช้ามืด ทำให้ปริมาณน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ อ.ควนโดน และ อ.เมืองสตูล เพิ่มสูงขึ้น ล่าสุด น้ำจาก อ.ควนโดน ไหลผ่านคลองฉลุงเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้านริมสองฝั่งคลองใน ต.ฉลุง อ.เมืองสตูล และตลาดสดเทศบาลตำบลฉลุงจมบาดาลอย่างรวดเร็ว ทำให้พ่อค้าแม่ค้าต้องขายของกลางสายน้ำ ส่วนถนนสายสตูล-ตรัง ช่วงก่อนถึงหัวสะพานฉลุงไปจนถึงหน้า ร.ร.บ้านทุ่ง ต.ฉลุง อ.เมืองสตูล ถูกน้ำท่วมทั้งสองฝั่งถนนระยะทางยาว 2 กม. รถทุกชนิดสัญจรลำบาก โดยเฉพาะฝั่งขาออกเทศบาลตั้งแต่สามแยกบ้านกุบังจามัง ไปถึงหน้า ร.ร.บ้านทุ่ง รถวิ่งได้ช่องเดียว

 

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วม จ.นครศรีธรรมราช คลี่คลายแล้ว 3 อำเภอ คือ ทุ่งสง สิชล และเชียรใหญ่ ส่วนพื้นที่อื่นๆยังคงได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ที่อ.เมืองนครศรีธรรมราช ยังมีน้ำท่วมขัง หมู่ 3 และหมู่ 8 ต.โพธิ์เสด็จ ถนนสายห้วยพานหนองกก-หนองกกน้ำท่วมขัง บางจุดสูงกว่า 1 เมตร ขณะที่พื้นที่การเกษตรของชาวบ้านถูกน้ำท่วมขังมานานทำให้สวนผลไม้และยางพารายืนต้นตาย ส่วนเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่รองรับน้ำจาก อ.ลานสกา ล่าสุด น้ำเอ่อท่วมพื้นที่ริมคลอง ชาวบ้านเดือดร้อนหลายชุมชน เจ้าหน้าที่เทศบาลประสานสำนักงานชลประทานที่ 15 ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 3 เครื่องบริเวณคลองนครน้อยเร่งระบายน้ำ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน