เมื่อ : 13 ธ.ค. 2567

ไร่ไพวัลย์ ลพบุรี แหล่งเรียนรู้ ”กล้วยหอมคาเวนดิช” พืชอนาคตไกล ปลูกไม่พอบริโภคและส่งออก 

 

นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กล้วยหอมที่นิยมปลูกเป็นการค้าในประเทศไทยมีด้วยกัน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มกรอสมิเชล เช่น กล้วยหอมทอง และกลุ่มคาเวนดิช เช่น กล้วยหอมเขียว (กล้วยหอมคาเวนดิช) โดยผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่จะใช้บริโภคภายในประเทศ การส่งออกกล้วยสดและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากกล้วยนั้น ยังมีมูลค่าไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ กล้วยที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นกล้วยหอมทอง ซึ่งมีคุณภาพไม่เหมาะสมกับการส่งออกนัก เนื่องจากมีเปลือกบาง ไม่ทนทานต่อการขนส่งระยะไกล ประกอบกับสุกไวและขั้วหลุดง่าย มีอายุการเก็บรักษาสั้น ในขณะที่กล้วยหอมคาเวนดิช มีเปลือกหนา เหมาะแก่การขนส่ง เมื่อบ่มอย่างถูกต้อง (เทคนิคบ่มในห้องเย็น) สีเปลือกจะเหลืองสวย คุณภาพผลจะดี เมื่อสุกเนื้อจะแน่นไม่เละ ถึงแม้จะหวานน้อยกว่ากล้วยหอมทอง แต่เก็บรักษาได้นานกว่า จึงเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก ข้อมูลภาพรวมการผลิตกล้วยหอมของประเทศไทยในปี 2566 มีเนื้อที่ให้ผล 42605 ไร่ ผลผลิตต่อไร่ 3515 กิโลกรัม ผลผลิตรวมทั้งหมด 149757 ตัน ต้นทุนการผลิตไร่ละ 5687 บาท ราคาขายเฉลี่ยตันละ 15233 บาท

 

ส่วนข้อมูลการค้าในปี 2566 มีปริมาณการบริโภคภายในประเทศ 148236 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 95 เป็นการจำหน่ายผ่านตลาดกลางและห้างสรรพสินค้า และผลผลิตบางส่วนเข้าสู่กระบวนการแปรรูป ปริมาณส่งออก 1521 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 5 ส่วนใหญ่การส่งออกกล้วยหอมเป็นแบบทำสัญญาข้อตกลงล่วงหน้า มีมูลค่าประมาณ 53 ล้านบาท ราคาส่งออกเฉลี่ยตันละ 35092 บาท โดยมีคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น จีน กัมพูชา ผลผลิตที่ส่งออกต้องมีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานเงื่อนไขของคู่ค้า และยังมีโอกาสขยายตลาดการส่งออกได้ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 2567) สำหรับทิศทางและการส่งออกกล้วยหอมในอนาคตพบว่ามีทิศทางที่สดใส ประเทศญี่ปุ่นได้มีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น (JTEPA) ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2550 ให้สิทธิพิเศษในการยกเว้นภาษีนำเข้ากล้วยจากประเทศไทย จำนวน 8000 ตัน ซึ่งข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ใช้สิทธิพิเศษดังกล่าวไม่เต็มโควต้าเพียง 3000 ตัน ในขณะที่คนญี่ปุ่นนิยมบริโภคกล้วยมาก เพราะผลไม้ที่มีรสชาติอร่อย มีคุณค่าทางอาหารสูง ราคาไม่แพง เข้าถึงได้ และสามารถนำไปใช้แปรรูปเป็นขนมได้หลายชนิด ขณะที่ญี่ปุ่นปลูกกล้วยหอมได้ในปริมาณน้อย ต้องนำเข้าเฉลี่ยถึงปีละ 1 ล้านตัน ที่ผ่านมาไทย จึงตั้งเป้าเร่งส่งออกสินค้ากล้วยของไทยอีก 5000 ตัน ให้ครบโควตาที่ไม่เสียภาษี

 

กรมส่งเสริมการเกษตรจึงส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกกล้วยหอมให้มากขึ้น โดยส่งเสริมตั้งแต่ต้นทาง ได้แก่ ตลาดแม่นยำ พื้นที่แม่นยำ พันธุ์แม่นยำ น้ำแม่นยำ ปุ๋ยแม่นยำ การจัดการโรคและแมลงแม่นยำ เทคโนโลยีการผลิตแม่นยำ การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวแม่นยำ จำหน่ายแม่นยำ โดยเฉพาะพันธุ์แม่นยำนั้น มีการส่งเสริมให้ใช้ต้นพันธุ์คุณภาพที่ได้การขยายพันธุ์ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งมีจุดเด่น คือ ช่วยให้สามารถขยายพันธุ์พืชในปริมาณมากและในเวลาที่รวดเร็วกว่าการขยายพันธุ์แบบดั้งเดิม ปลอดโรค มีลักษณะตรงตามพันธุ์เหมือนต้นแม่ ต้นพืชที่ผลิตได้จะมีขนาดสม่ำเสมอ จึงให้ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้คราวละมากๆ พร้อมกัน หรือในเวลาเดียวกัน

 

ด้านนางสาววัลภา ปันต๊ะ เกษตรจังหวัดลพบุรี กล่าวว่า เกษตรกรต้นแบบในการปลูกกล้วยหอมคาเวนดิชของจังหวัดลพบุรี คือ นายไพวัลย์ แจ่มแจ้ง อายุ 62 ปี เป็นประธาน ศพก. (เครือข่าย) ตำบลชอนม่วง อำเภอบ้านหมี่ และประธานวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมลพบุรี มีความโดดเด่นหลายด้าน ได้แก่ ด้านการผลิต นำเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาปรับใช้ อาทิ ตรวจวิเคราะห์ดิน ใช้ระบบน้ำหยด และพลังงานจากโซล่าเซลล์ ช่วยประหยัดน้ำและลดต้นทุนค่าไฟฟ้า ควบคู่กับการใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน อาทิ ปรับระยะปลูกระหว่างต้นเป็น 3x3 เมตร โดยปลูกหลุมละ 3 ต้น การโยงเชือกระหว่างต้นกล้วย เพื่อลดผลกระทบจากลม การตัดแต่งปลีกล้วยเพื่อป้องกันเชื้อรา การห่อผลด้วยถุงผ้าสปัน เพื่อให้ผิวเปลือกกล้วยสวย ซึ่งสามารถใช้ซ้ำได้ ประดิษฐ์มีดตัดกล้วยจากเกรียงโป๊วสี และมีการบ่มกล้วยก่อนนำออกจำหน่าย

 

ด้านการแปรรูป แปรรูปผลผลิตหลากหลาย เน้นกระบวนการผลิตตามมาตรฐาน GMP อาทิ กล้วยหอมผงชงดื่มสำเร็จรูป (ผสมคอลลาเจน/วิตามินซี/เวย์โปรตีน) กล้วยหอมฟรีซดราย กล้วยหอมทอดสุญญากาศ และบรรจุภัณฑ์จากใบกล้วยและกาบกล้วย ด้านมาตรฐานการผลิต ได้รับการรองมาตรฐาน GAP มาตรฐาน Q และมาตรฐาน SDGsPGS ด้านการตลาด สร้างแบรนด์เป็นของตนเอง คือ “ไร่ไพวัลย์ กล้วยหอม” มีตลาดจำหน่ายผลผลิตทั้งแบบตลาดออฟไลน์ อาทิ จำหน่ายหน้าสวน ตลาดนัดในท้องถิ่น ตลาดโมเดิร์นเทรด (TOPS Supermarket) ตลาดออนไลน์ผ่านทางไลน์แมน และตลาดส่งออก (ประเทศจีน) และยังมีการต่อยอดพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และแหล่งเรียนรู้ด้านการปลูกกล้วยหอมคาเวนดิช อำเภอบ้านหมี่อีกด้วย

 

ปัจจุบันไร่ไพวัลย์ มีพื้นที่ปลูกกล้วยทั้งหมด 17 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 16000 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งสูงกว่าปริมาณผลผลิตเฉลี่ยมาตรฐานที่กรมวิชาการเกษตรรวบรวมไว้เกือบ 2 เท่า เลือกใช้พันธุ์จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งสั่งซื้อโดยตรงจากศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 9 จังหวัดสุพรรณบุรี กรมส่งเสริมการเกษตร มีต้นทุนการผลิตไร่ละ 70450 บาท รายได้ไร่ละ 320000 บาท และกำไรเฉลี่ยไร่ละ 249550 บาท โดยกำหนดเป้าหมายที่จะสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอม และทำหน้าที่เป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตจากเครือข่าย เพื่อสร้างรายได้ให้กับเครือข่าย

 

สำหรับเกษตรกรที่สนใจต้นพันธุ์กล้วยจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 9 จังหวัดสุพรรณบุรี โทร 035-440360 หรือสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน