นโยบายขึ้นภาษีศุลกากรนำเข้าสินค้าของทรัมป์ เพิ่มโอกาสของสินค้าไทย
ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย-จีน ไตรมาส 1/2568 นโยบายขึ้นภาษีศุลกากรนำเข้าสินค้าของทรัมป์ เพิ่มโอกาสของสินค้าไทย คาดว่า จีดีพี ไทย ปี 2568 ขยายตัวร้อยละ 2.7 ถึง 3 สะท้อนความเชื่อมั่นว่าจะเกิดการลงทุนจริงของต่างชาติในอีก 1-2 ปี
นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยจีนประจำไตรมาส 1 ประจำปี 2568 ระหว่างวันที่ 14 พฤศจิกายน ถึง 6 ธันวาคม 2567 โดยมีผู้ให้ข้อมูลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นประกอบไปด้วยสามกลุ่มคือ (1) ประธานคณะกรรมการกิตติมศักดิ์คณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการหอการค้าไทยจีน (2) ประธานและกรรมการสมาชิกสมาคมต่างๆของสหพันธ์หอการค้าไทยจีน และ (3) กลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ของหอการค้าไทยจีน รวมทั้งทั้งสิ้น 425 คน
ประเด็นที่ต้องติดตามคือ ผลกระทบหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ได้นายโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้ชนะ ที่มีนโยบายกีดกันทางการค้าเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้ากับประเทศคู่ค้า ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อสาธารณรัฐประชาชนจีน และประเทศอื่นๆที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกาอีกด้วย นอกจากจะมีกระทบต่อการส่งออกจากจีนไปยังสหรัฐอเมริกาแต่ยังมีผลกระทบต่อประเทศอื่นๆด้วยทั้งทางตรงและทางอ้อม การสำรวจความคิดเห็นอีกส่วนเกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด ได้สำรวจความมั่นใจในปี 2567 ว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเยือนประเทศไทยได้สูงกว่าเป้าหมายหรือไม่ และยังมีการสำรวจที่เกี่ยวข้องกับการปรับอัตราดอกเบี้ย และแนวโน้มการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ในปี 2568 สรุปผลการสำรวจมีดังต่อไปนี้
จากผลการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาที่ได้อดีตประธานาธิบดีทรัมป์กลับมาครั้งหนึ่ง ด้วยนโยบายที่จะปรับอัตราภาษีศุลกากรนำเข้าสินค้าจากจีนสูงขึ้นถึงร้อยละ 60 จะมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับประเทศไทย เพราะไทยส่งวัตถุดิบ สินค้ากึ่งสำเร็จรูป และชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศจีน จะมีผลให้ไทยส่งออกได้ลดลง ขณะที่อาจจะเป็นโอกาสของไทยในตลาดสหรัฐอเมริกาโดยการส่งออกแทนจีน แต่หากจีนประสบปัญหาในการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา จีนอาจจะส่งอุปทานส่วนเกินไปยังประเทศคู่ค้าอื่นๆ รวมถึงประเทศไทยด้วย จากการสำรวจของหอการค้าไทยจีนพบว่า การขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐอเมริกานั้น น่าจะส่งผลให้เป็นโอกาสที่ดีต่อประเทศไทย (จากร้อยละ 57 ของผู้ตอบแบบสำรวจ) และมีอีกส่วนให้ความเห็นว่าจะเป็นโอกาสที่ดีมากกับประเทศไทย (ร้อยละ 23 ของผู้ตอบแบบสำรวจ)
ผลของมาตรการดังกล่าวของสหรัฐอเมริกา จึงเป็นไปได้ว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนจะย้ายฐานการผลิตมายังกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้น ผลการสำรวจพบว่าแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตจีนมายังอาเซียน จะเพิ่มขึ้นพอสมควรโดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ซึ่งกระแสการย้ายฐานการผลิตได้เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว (จากร้อยละ 44.5 ของผู้ตอบแบบสำรวจ) อย่างไรก็ตามมีร้อยละ 23.4 ของผู้ตอบแบบสำรวจ คาดว่าการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังอาเซียน อาจจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันเพราะมีการย้ายฐานการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง
ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยและจีน ไทยเป็นเป้าหมายหนึ่งในอาเซียนที่จีนจะย้ายฐานการผลิตมาลงทุน หากพิจารณาถึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในปี 2567 ในระยะเก้าเดือนแรกมีมูลค่าการลงทุน จากต่างประเทศรวมกันมากกว่า 5.46 แสนล้านบาท ในขณะที่คู่แข่งคือเวียดนามได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในมูลค่าใกล้เคียงกันแต่ใช้เวลาเพียงหกเดือน จากการสำรวจความคิดเห็น ว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ไทยต้องเร่งปรับปรุงเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ และให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆในอาเซียนได้ ผลของการสำรวจมีการเสนอ สาม ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย (1) การลดขั้นตอนความซับซ้อนของระบบราชการ (Regulatory Guillotine) และสร้างให้เกิดความโปร่งใสในการทำงานของภาครัฐ (2) การพัฒนาทักษะแรงงานไทยให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเข้ามาลงทุน และ (3) การปรับสิทธิประโยชน์ให้กับนักลงทุนจากต่างประเทศให้ทัดเทียมกับประเทศคู่แข่ง ผู้ตอบแบบสำรวจให้ความสำคัญมากกว่าเสถียรภาพทางด้านการเมือง
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้แจ้งข่าวการขอการส่งเสริมการลงทุนในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2567 ว่ามีมูลค่าสูงที่สุดในรอบระยะเวลา 10 ปี แม้ว่ายังต้องรอขั้นตอนการอนุมัติ การตัดสินใจลงทุน และการเปิดกิจการซึ่งจะใช้ระยะเวลาหนึ่งถึงสองปี ร้อยละ 47 ของผู้ตอบแบบสำรวจมีความเชื่อว่าเป็นข่าวดีมากและการลงทุนจริงจะเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าใหม่ในอนาคต อย่างไรก็ตามร้อยละ 35 ให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่จะมีการโยกย้ายการลงทุนจากต่างประเทศในช่วงของความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองของโลกซึ่งทำให้นักลงทุนต่างชาติก็ได้ขอสิทธิประโยชน์เพื่อลงทุนในประเทศอื่นเช่นกัน
หลังจากสถานการณ์ โควิด-19 การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย ร้อยละ 75.4 ของผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่าเป็นไปได้ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะมีจำนวนมากกว่า 38 ล้านคนในปี 2567 และร้อยละ 79 ของผู้ตอบแบบสำรวจ มีความมั่นใจว่านักท่องเที่ยวจากจีนจะมีจำนวนมากกว่าเป้าหมาย 7 ล้าน คนในปี 2567 ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนสถานการณ์โควิด-19 นับว่าจำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มกลับเข้าสู่ระดับเดิมกล่าวคือเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน และในจำนวนนั้นเป็นชาวจีน 10 ล้านคน หากในปีหน้าจำนวนนักท่องเที่ยวยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง จะมีผลดีต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย
การคาดการณ์การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จากฐานการเจริญเติบโตในปี 2567 ที่คาดว่าอยู่ที่ร้อยละ 2.7 ทั้งนี้ร้อยละ 48 ของผู้ตอบแบบสำรวจ ลงความเห็นว่าในปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะโตอยู่ระหว่างร้อยละ 2.7 ถึง 3 ในขณะที่ร้อยละ 29 ของผู้ตอบแบบสำรวจคาดว่าปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะโตต่ำกว่าร้อยละ 2.7 มีเพียงส่วนน้อยที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโตมากกว่าร้อยละ 3
ส่วนสถานการณ์ทางการเงินนั้น ในกลางเดือนธันวาคมจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ตอบแบบสำรวจคาดว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังจะไม่เกิดขึ้น (ร้อยละ 56 ของผู้ตอบแบบสำรวจ ) จากอัตรานโยบายปัจจุบันคือ ร้อยละ 2.25 เตือนในขณะที่ร้อยละ 34 คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะถูกปรับลดลง
สำหรับการค้าระหว่างประเทศไทยและจีน ช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 มีมูลค่าการค้ารวม 94919 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.23% มีสัดส่วน 18.70% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย ส่วนการส่งออกของไทยไปยังจีน มีมูลค่า 29209 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว เพียง 0.79% และการนำเข้าของไทยจากจีน มีมูลค่า 65709 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 11.91% เนื่องจากการขยายตัวของการนำเข้าหมวดสินค้าทุน ขยายตัวที่ 21.83% เช่น (1) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และ (2) เครี่องจักรกลและส่วนประกอบ และการนำเข้าหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ขยายตัวที่ 9.16% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ากับประเทศจีน มูลค่า 36500 ล้านเหรียญสหรัฐ