เมื่อ : 16 ธ.ค. 2567

สุราษฎร์ธานี ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว 9 อำเภอ หลังเจอน้ำท่วมหนัก จากกรณีที่ฝนตกต่อเนื่อง เร่งเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่ ส่วน ”เขื่อนรัชชประภา” ประกาศงดการระบายน้ำแล้ว

 

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงาน สถานการณ์น้ำท่วมของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ว่า ขณะนี้ได้ขยายวงกว้างไปเกือบทั้งจังหวัดแล้ว เนื่องจากเกิดฝนตกหนักตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา และยังคงตกต่อเนื่องมาตลอดทั้งวันทำให้ปริมาณน้ำฝนสะสมในพื้นที่ต่างๆ มีปริมาณมาก ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูงทำให้การระบายออกสู่ทะเลอ่าวไทยเป็นไปอย่างช้า ๆ แต่ในช่วงที่น้ำขึ้นสูงสุดการระบายก็หยุดชะงัก

 

นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย วาตภัยและดินถล่ม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้เรียกประชุมด่วนคณะทำงาน

เนื่องจากฝนตกหนักในพื้นที่ เมื่อวันที่ 14-16 ธันวาคม 2567 ส่งผลให้น้ำในคลองล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ การเกษตร ถนน และบ้านเรือนประชาชน แล้ว 9 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองสุราษฎร์ธานี อ.กาญจนดิษฐ์ อ.ดอนสัก อ.ท่าชนะ อ.ท่าฉาง อ.เกาะสมุย อ.เกาะพะงัน อ.บ้านนาสาร  และ อ.ไชยา รวม 50 ตำบล 341 หมู่บ้าน มีผู้ได้รับผลกระทบ 14319 ครัวเรือน 28809 คน ไม่มีผู้บาดเจ็บ แต่มีผู้เสียชีวิตเหตุดินถล่ม 3 ราย (ชาวเมียนมา 2 ราย ชาวไทย 1 ราย)

 

นอกจากนี้ที่ประชุมได้ติดตามพบว่า ในพื้นที่ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี มีฝนตกต่อเนื่อง น้ำท่วมขังลดลง แต่ อ.กาญจนดิษฐ์  อ.ดอนสัก อ.ท่าชนะ อ.ท่าฉาง อ.ไชยา ยังมีฝนตกหนักในพื้นที่ต่อเนื่อง มีน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อ.บ้านนาสาร เกิดฝนตกหนัก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมฉับพลัน ส่วน อ.เกาะสมุย กับ อ.เกาะพะงัน ฝนตกลดลง น้ำท่วมขังลดลง ยังมีน้ำท่วมถนนและพื้นที่ลุ่มต่ำบางจุด

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมแสดงความเป็นห่วงแนวโน้มที่ยังมีฝนตกหนักต่อเนื่อง จะทำให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยอีกรอบ และระดับน้ำเพิ่มขึ้นใน อ.กาญจนดิษฐ์ อ.ท่าฉาง อ.ท่าชนะ อ.ไชยา และจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ อ.บ้านนาสาร อ.เวียงสระ อ.พุนพิน อ.วิภาวดีและเกิดดินถล่มในพื้นที่ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี ซึ่งหากฝนไม่หยุดตกสถานการณ์อุทกภัยจะรุนแรงขยายวงกว้างขึ้น

 

วันเดียวกัน ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย มทบ.45 ได้นำกำลังทหารและรถบรรทุกใหญ่ เข้าเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยและสิ่งของออกนอกพื้นที่ เนื่องจากในระดับน้ำในคลองยัน เพิ่มสูงขึ้นอีกประมาณ 1 เมตร ทำให้ล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือน จึงกำลังชุดปฏิบัติการเฝ้าระวังติดตาม และเข้าช่วยเหลืออยู่ในพื้นที่

 

ขณะที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เขื่อนรัชชประภา ประกาศงดการระบายน้ำ เพื่อบรรเทาอุทกภัยของชุมชนภายในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2567 เขื่อนรัชชประภาเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากมีการเปลี่ยนแปลง จะแจ้งให้ทราบต่อไป