เมื่อ : 09 ม.ค. 2568

นายณัฏฐกิตติ์ ของทิพย์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่าจากการแถลงนโยบาย หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา ในประเด็นมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 นั้น กรมการข้าว สนองนโยบายฯ เตรียมจัดงานถ่ายทอดเทคโนโลยี (Field day) “ชาวนายุคใหม่ ใส่ใจสุขภาพ…..ลดและงดการเผาตอซัง ฟางข้าว และเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และเพื่อการผลิตข้าวที่ยั่งยืน“  ซึ่งจะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 17 มกราคม 2568 ณ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตำบลหนองหาร อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

 

งานถ่ายทอดเทคโนโลยีฯ ดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตข้าวอย่างปลอดภัยด้วยการจัดการตอซังและฟางข้าว ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อปลอดการเผา และผลิตข้าวอย่างยั่งยืน ให้แก่เกษตรกรกลุ่มนาแปลงใหญ่ ศูนย์ข้าวชุมชน smart farmer ชาวนาอาสา  และผู้นำองค์กรชาวนา ได้รับรู้ถึงผลกระทบจากการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร วิธีการกำจัดเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ตลอดจนให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการงดเผาตอซังและผลิตข้าวอย่างปลอดภัย เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จนเกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อด้านสุขภาพและการท่องเที่ยว ซึ่งหากร่วมสร้างจิตสำนึกในการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ให้เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดการเผา ซึ่งจะสามารถช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวได้เพิ่มมากขึ้น

 

โดยกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การจัดนิทรรศการภายใต้หัวข้อ “ชาวนายุคใหม่ ใส่ใจสุขภาพ…ลดและงดการเผาตอซัง ฟางข้าว และเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อการผลิตข้าวที่ยั่งยืน” เพื่อสร้างความเข้าใจในการกำจัดเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ลดหรืองดการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น การใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซัง การใช้เครื่องอัดฟาง การใช้ประโยชน์ตอซังและฟางข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่า ตลอดจนการจัดกิจกรรมแสดงและสาธิต เช่น การแสดงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากฟางข้าว การสาธิตการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังให้เหมาะสมและถูกต้อง

 

อธิบดีกรมการข้าว กล่าวทิ้งท้ายว่า “ที่ผ่านมา กรมการข้าว ไม่ได้นิ่งนอนใจกับสถานการณ์ค่าฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการที่เกษตรกรเผาฟางข้าว จึงมอบหมายให้สถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ คิดค้นเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกษตรกรไม่เผาฟาง จึงได้คิดค้นจุลินทรีย์ชีวภัณฑ์ที่ช่วยในการย่อยสลายตอซัง และฟางในนาข้าว โดยมีประสทธิภาพสามารถย่อยสลายได้ภายใน 7-10 วัน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มปริมาณธาตุอาหารให้กับนาข้าว ลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้สูงสุด 20% - 30% เพื่อให้เกษตรกรหยุดการเผาไร่นา เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยลดฝุ่น PM 2.5ได้อีกทางหนึ่ง”