รำลึก 3 ปี ”หมอกระต่าย” เสียชีวิตจากเดินข้ามถนนม้าลาย

เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 68 นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐานและด้านยานพาหนะเกี่ยวกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน พร้อมด้วย นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายพลังผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน มูลนิธิเมาไม่ขับ และภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดกิจกรรม 21 มกราคม “วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน” ทางม้าลายปลอดเหตุ ทั่วประเทศปลอดภัย ณ โรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์
นายสุรชัย กล่าวว่า อุบัติเหตุในประเทศไทยยังน่าเป็นห่วง จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนถึง 17498 ราย เฉลี่ยวันละ 48 ราย และกลายเป็นผู้พิการตลอดชีวิตเฉลี่ยปีละ 10000 คน กิจกรรมในวันนี้เป็นการรำลึกถึงการจากไปครบรอบ 3 ปี ของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ “หมอกระต่าย” ซึ่งเสียชีวิตจากอุบัติเหตุถูกรถจักรยานยนต์ชนขณะเดินข้ามทางม้าลายและไม่เพียงแต่กรณีของหมอกระต่าย แต่ยังเป็นการรำลึกถึงเหยื่ออุบัติเหตุทางถนนและเตือนใจผู้ขับขี่ยานพาหนะทุกประเภทอย่างจริงจัง
ด้าน นางเบญจมาภรณ์ กล่าวว่า สสส. และมูลนิธิไทยโรดส์ สำรวจพฤติกรรมการหยุดรถบริเวณทางม้าลาย 12 จุดใน กทม. ปี 2565 พบว่า หยุดรถ ลดความเร็วบริเวณทางม้าลาย 11 เปอร์เซ็นต์ ใช้ความเร็วบนทางม้าลายเกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มากถึง 79 เปอร์เซ็นต์ ก่อนถึงทางม้าลาย เป็นรถจักรยานยนต์ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง “ความเร็ว” เป็นปัจจัยสำคัญของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนถึง 70 เปอร์เซ็นต์ องค์การอนามัยโลกกำหนดว่าการใช้ความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในพื้นที่ชุมชนจะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่นางรัชนี สุภวัตรจริยากุล แม่ของ “หมอกระต่าย” กล่าวว่า ในฐานะประธานเครือข่ายพลังผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน มีข้อเสนอนโยบาย 3 ข้อต่อรัฐสภาและหน่วยงาน คือ 1.สร้างทางม้าลายปลอดภัยและปรับปรุงพื้นที่ทางม้าลายให้เห็นชัดเจน 2.การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และกำหนดการใช้ความเร็วในเขตเมืองไม่เกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และ 3.ลดค่าใช้จ่ายเมื่อต้องการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ทั้งนี้ได้มีการร่วมกันไว้อาลัยจุดเทียนวางดอกไม้ บริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลฯ จุดทางม้าลายที่เกิดอุบัติเหตุ “หมอกระต่าย” พร้อมแสดงสัญลักษณ์ เปิดไฟหน้ารถหรือเปิดไฟฉายที่โทรศัพท์มือถือเป็นเวลา 1 นาที