โคราชปลุกตำนานดินเผาด่านเกวียน“วิถีชาวดิน ถิ่นงานปั้น”กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น

นครราชสีมา-ทท.ผนึกหน่วยงานภาครัฐปลุกตำนานดินเผาด่านเกวียน“วิถีชาวดิน ถิ่นงานปั้น” กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น จัดถนนวัฒนธรรมสัมผัสแหล่งผลิตเครื่องปั้นระดับโลก
นายอภิชา เลิศพชรกมล สส.นครราชสีมา เขต 10 พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการท่องเที่ยวและกีฬาพร้อมนายพิชาญ ตราผักแว่น นายอำเภอโชคชัย นางรุ่งทิพย์ บุกขุนทด ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครราชสีมา และนายชรินทร์ เปลี่ยนกระโทก นายก ทต.ด่านเกวียน แถลงการจัดกิจกรรมโครงการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น “วิถีชาวดิน ถิ่นงานปั้น” ประจำปี 2568 งานเทศกาลเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน กำหนดจัดวันที่ 10-14 ก.พ นี้ ที่ลานกิจกรรม นักงานเทศบาลตำบล (ทต.)ด่านเกวียน อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา
นายชรินทร์ นายก ทต.ด่านเกวียน เปิดเผยว่า เป็นประจำทุกปีชาวด่านเกวียนจะประกอบพิธีขอขมาบูชาดินเพื่อสืบสานวิถีชีวิตดั้งเดิมและความเชื่อของคนในชุมชนที่สืบทอดกันมา พร้อมร่วมแรงร่วมใจปั้นดินเผาเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่ยังคงเอกลักษณ์ทางภูมิปัญญาท้องถิ่น กิจกรรมมีการแข่งขันปั้นแจกัน โอ่ง ปติมากรรมลอยตัวและการเพ้นท์สี การจัดสวนถาดเครื่องปั้นดินเผา กิจกรรมประกวดธิดาดินจำแลง การจัดบูธเครื่องปั้นดินเผาของชุมชนและหน่วยงานราชการ
กิจกรรมพาเที่ยวชมวิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาในหมู่บ้านโดยรถรางนำเที่ยว แข่งขันหุงข้าวหม้อดิน ผัดหมี่ แข่งขันตำส้มตำ แข่งขันทำขนมครก การออกบูธจำหน่ายสินค้าโอท็อปและการแสดงของนักเรียนและชาวบ้าน และทุกค่ำดินสนุกสนานกับวงดนตรี ศิลปินเต็มวงแสงสีเสียง อลังการ ตลอดทั้ง 5 วัน 5 คืน
ทั้งนี้เดิมพื้นที่ ต.ด่านเกวียน ถือเป็นเมืองหน้าด่านเรียกว่า “ด่านกระโทก” เป็นเส้นทางการค้าทางบกระหว่าง โคราชกับเขมร (กัมพูชา) สมัยก่อนมีพ่อค้าเกวียนมาหยุดพักกองคาราวาน จึงถูกเรียกชื่อใหม่ว่า “ด่านเกวียน” ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำมูล ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์และเป็นถิ่นอาศัยของชาวข่า คนเชื้อสายมอญ จึงเกิดการถ่ายทอดกรรมวิธีการทำเครื่องปั้นดินเผา ชาวบ้านมักจะใช้เวลาว่างผลิตเครื่องปั้นดินเผาชนิดต่างๆ ไว้ใช้ในครัวเรือน อาทิ โอ่ง กระถาง ไห ครก รอฝนยา ฯลฯ รวมทั้งนำบางส่วนที่ผลิตได้ขนขึ้นเกวียนไปค้าขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้ากับประเทศกัมพูชา
สำหรับเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนได้ยกระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์สมัยใหม่และรับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เนื่องจากมีความโดดเด่นด้วยตัวสินค้าที่มีความแข็งแกร่งทนทานและสวยงามด้านเอกลักษณ์และรูปแบบงานปั้นที่มีความหลากหลายกำลังเป็นสินค้าที่นิยมของตลาดทั้งในและต่างประเทศ คาดเงินสะพัดในท้องถิ่นร่วม 5 ล้านบาท