เมื่อ : 22 มี.ค. 2568

ผอ.อนุรักษ์สัตว์ป่าอุดรฯ เร่งประสานหน่วยงานช่วยผลักดัน ”นกปากห่าง” ออกจากวัดป่า ที่อุดรธานี หลังเข้ามายึดพื้นที่ สร้างครอบครัว ส่งเสียงดัง จนพระ เณร ต้องทิ้งกุฏิหนีไปจำพรรษาที่วัดอื่น 

จากกรณีชาวบ้านร้องเรียนว่า ที่วัดป่ามัชฉิมวงศ์รัตนาราม บ้านเหล่าใหญ่ ต.แชแล อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี มีนกปากห่างจำนวนหลายหมื่นตัว บุกเข้ามาอาศัยอยู่บนต้นไม้ใหญ่ในวัด ทำรังออกลูกขยายพันธ์ ส่งเสียงดังรบกวนพระ เณร และผู้มาปฏิบัติธรรมในวัด จนต้องทิ้งกุฏิหนีไปจำพรรษาที่วัดอื่น ที่สำคัญมูลนกหรือขี้นกที่ขับถ่ายออกมาทำให้ต้นไม้ยืนต้นตาย อีกทั้งชาวบ้านไม่กล้ามาวัดเพราะเกรงจะติดโรค แม้ว่ามัคนายกวัดจะขับไล่นกหลายวิธีแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ เคยทำหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ทำได้เพียงมาฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคปีละครั้ง ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุดผู้สื่อข่าวเดินทางไปยัง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 (อุดรธานี) พบกับนายสมบัติ สุภศร ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 (อุดรธานี) เพื่อสอบถามแนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมานานนับ 10 ปี พร้อมกับเปิดเผยว่า นกปากห่างเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ 612 ตามกฎกระทรวงที่กำหนดให้เป็นสัตว์ป่าสงวนคุ้มครอง ตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า นกปากห่างเป็นนกขนาดใหญ่ จะชอบอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติในเวลากลางวัน เพื่อหาอาหารคือหอยชนิดต่างๆ เช่นหอยเชอรี่ หอยโข่ง ในที่นาและพื้นที่ชุ่มน้ำ นกปากห่างกำจัดหอยเชอรี่ได้ดี พอตกกลางคืนก็จะพากันบินกลับมาที่พักหรือรัง ที่เหมาะสมคือต้นไม้สูง ที่จะทำรังบนยอดต้นไม้

นายสมบัติ เปิดเผยต่อว่า กรณีที่วัดป่าในพื้นที่ตำบลแชแล อ.กุมภวาปี เป็นพื้นที่ที่เหมาะสม เพราะอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำในพื้นที่หนองหาน-กุมภวาปี ซึ่งวัดป่าก็เป็นพื้นที่ป่าต้นไม้สูงใหญ่ และล้อมรอบไปด้วยที่อยู่ของชุมชน และมีเนื้อที่ป่าผืนใหญ่ประมาณ 50-70 ไร่ ซึ่งเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ และไม่มีชาวบ้านมารบกวนเนื่องจากเป็นวัดป่า นกปากห่างจึงมาทำรัง ส่วนปัญหาดังที่ชาวบ้านร้องเรียนมาประมาณ 10 ปีแล้ว ที่นกปากห่างเข้ามาทำรังอาศัยอยู่บริเวณวัด ก็จะมีชาวบ้านร้องมาในพื้นที่ของกรมอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหนองหาน-กุมภวาปี เราก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบดู แล้วได้ประสานไปทางปศุสัตว์อำเภอ มาฉีดพ่นยาปีละ 2-3 ครั้ง เพื่อป้องกันโรคระบาดต่างๆ และทำมาทุกปี

นายสมบัติ เปิดเผยต่อไปว่า ช่วงที่นกปากห่างวางไข่ ก็จะทำรังอาศัยอยู่บนต้นไม้สูงในช่วงหน้าหนาว คือเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม ส่วนช่วงผสมพันธุ์อยู่ระหว่างเดือนมิถุนายน-ตุลาคม ของทุกปี ในช่วงที่ทำให้คนและพระสงฆ์เดือดร้อน จากมูลนกและเสียงอย่างมาก ก็อยู่ระหว่างการทำรังเลี้ยงลูกระหว่างเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม ในปีนี้เห็นทราบว่ามีประชากรนกเพิ่มขึ้นมากกว่าทุกปี เนื่องจากสภาพวัดป่ามีความสมบูรณ์ และมีความเหมาะสมในการวางไข่เลี้ยงลูก ก็เลยอพยพมากันเยอะ แต่นกปากห่างจริงๆที่เราสำรวจเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีปริมาณ 2000-3000 ตัว ส่วนที่เหลือเป็นนกประเภทอื่น เช่น นกกระยาง นกกระยางน้อย นกกระยางใหญ่ นกกระยางควาย นกกระยางเปีย ฯลฯ รวมประชากรนกกระยางประมาณ 7000-8000 ซึ่งรวมกับนกปากห่างก็จะมีประชากรนกประมาณ 10000 ตัว

”ตอนนี้ทางเราก็ได้ประสานงานกับทางนายอำเภอกุมภวาปี ท่านจะได้นัดหมายกับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ ปศุสัตว์อำเภอ ปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหนองหาน-กุมภวาปี ที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ และสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 (อุดรธานี) ร่วมไปประชุมหารือ ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อพยายามผลักดันประชากรนกออกนอกพื้นที่ แต่คงต้องใช้เวลา เพราะว่านกชนิดต่างๆมาอยู่อาศัยจำนวนมาก การผลักดันก็ต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ ซึ่งต้องค่อยๆดำเนินการ”

ผอ.ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 (อุดรธานี) เปิดเผยอีกว่า โดยทางเราได้รับข้อมูลจากทางภาคกลางว่ามีปัญหาเรื่องนกปากห่างและนกชนิดต่างๆ เยอะมาก เพราะทางภาคกลางมีพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์เป็นจำนวนมาก สุดท้ายนี้เราไม่ได้นิ่งนอนใจเราประสานงานกับทางอำเภอ ทางกรมอุทยาน ได้ศึกษาแนวทางแก้ไข และจะได้เร่งดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประสานงานวิจัยข้อมูลของกรมอุทยาน ที่ได้ทำการวิจัยไว้แล้ว เพื่อจะได้มาใช้ดำเนินการแก้ไขปัญหา ผลักดันนกปากห่างออกจากวัดและชุมชน และจะได้เข้าไปคุยกับชุมชน แต่ต้องค่อยๆเป็นไป เพราะว่านกปากห่างเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง