ชมมหัศจรรย์ อาทิตย์ขึ้นตรง 15 ช่องประตู@ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง ปลุกเที่ยวบุรีรัมย์

ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เผยเตรียมงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง 4-6 เม.ย.นี้ การบวงสรวงองค์พระศิวะมหาเทพ ชมริ้วขบวนเสด็จของพระนางภูปตินทรลักษมีเทวี ขบวนรำสักการะ “น้อมจิตบังคม พนมรุ้งนาฏการ” พร้อมนางรำจากทุกอำเภอ รำถวายสักการะใต้ร่มพนมรุ้ง การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และร่วมอุดหนุนสินค้าพื้นบ้าน อาหารพื้นถิ่น ใน“ตลาดอารยธรรมวนัมรุง” ส่วน 3-5 เม.ย.นี้ ชมแสงอาทิตย์ขึ้นตรงสาดแสงส่องผ่าน 15 ช่องประตู ปราสาทพนมรุ้ง ปรากฏการณ์มหัศจรรย์ทางธรรมชาติหนึ่งเดียวในโลก
ที่บริเวณด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ปราสาทพนมรุ้ง อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ต.ตาเป๊ก อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ นายปิยะ ปิจนำ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมด้วย เภสัชกรหญิง ณัฐรดา ปิจนำ นายกเหล่กาชาดจังหวัดบุรีรัมย์ นายรุ่งโรจน์ ทองศรี สมาชิกสภาผู้เเทนราษฎร จ.บุรีรัมย์ นายภาคภูมิ อยู่พูล หัวหน้าอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง นางกัญญารัตน์ ท่วมไธสง ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดบุรีรัมย์ นายศักดิ์กรินทร์ คูณประโคน นายอำเภอเฉลิมพระเกียรติ นางรัชนี สาระวิถี พัฒนาการจังหวัดบุรีรัมย์ และนางสาวจิตสุภา หมื่นยงค์ วัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์
ร่วมกันแถลงข่าว เตรียมจัดงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง ประจำปี 2568 ซึ่งจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับอำเภอเฉลิมพระเกียรติ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จัดขึ้น ในระหว่างวันที่ 4-6 เมษายน 2568 ณ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ต.ตาเป๊ก อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวตามรอยอารยธรรมขอม และเป็นการอนุรักษ์สืบสานประเพณีที่มีมาอย่างยาวนาน แสดงถึงเอกลักษณ์ทรงคุณค่าของท้องถิ่นและศิลปะวัฒนธรรมที่ต้องอนุรักษ์และสืบสานสู่อนุชนรุ่นหลัง บอกเล่าเรื่องราวของสถาปัตยกรรมที่เป็นมรดกของจังหวัดบุรีรัมย์ และมรดกของชาติ อันทรงคุณค่าอย่างน่าภูมิใจ สู่สายตานักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ
โดยภายในงาน จะมีกิจกรรม ประกอบด้วย การบวงสรวงองค์พระศิวะมหาเทพ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาพนมรุ้ง ซึ่งเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่องค์พระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย ชมริ้วขบวนอัญเชิญพระศิวะมหาเทพ ขบวนสัตว์พาหนะเทพผู้พิทักษ์ประจำทิศทั้ง 10 และขบวนเสด็จพระนางภูปตินทรลักษมีเทวี นำแสดงโดย ดารานักแสดง ”ขวัญ อุษามณี” และนางจริยา นำเครื่องบวงสรวง ประกอบด้วย เทพพาหนะผู้พิทักษ์ประจำทิศทั้ง 10 นางสนมกำนัล เหล่าทหาร ข้าทาสบริวาร ดำเนินผ่านเสานางเรียงประดับด้วยธงทิวยิ่งใหญ่อลังการ “การแสดงชุด “ระบำอัปสราบุรีรัมย์”
จากนั้น ในช่วงค่ำ ชมการแสดงแสงแห่งศรัทธาปราสาทพนมรุ้ง ชมขบวนแห่สักการะ “น้อมจิตบังคม พนมรุ้งนาฎการ” จากนางรำ ทั้ง 23 อำเภอ กว่า 700 คน แต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองประจำถิ่นของแต่ละอำเภอ มาฟ้อนรำถวาย สักการะใต้ร่มพนมรุ้ง อย่างงดงามอลังการ ซึ่งคาดว่าจะสร้างความตื่นตาและประทับใจแก่ผู้ร่วมชมงานอย่างแน่นอน
พร้อมเที่ยวชม “ตลาดอารยธรรมวนัมรุง” ให้ผู้ที่มาเที่ยวงานจะได้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชนคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นผ้าไหม ผ้าฝ้ายที่มีความสวยงามเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ทั้งผ้าซิ่นตีนแดง ผ้าหางกระรอกคู่ตีนแดง ผ้าภูอัคนี (ผ้าฝ้ายย้อมดินภูเขาไฟ) รวมถึงผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร เครื่องใช้ และของที่ระลึกอื่นๆ อีกมากมาย อีกทั้ง ยังได้ลิ้มรสอาหารพื้นเมืองโบราณหายากเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น จาก 23 อำเภอ ในจังหวัดบุรีรัมย์ มาให้เลือกซื้อ เลือกชม และเลือกชิม พร้อมทั้งชมการแสดงศิลปวัฒนธรรม ดนตรีนาฏศิลป์พื้นบ้านตลอดงาน
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวปราสาทเขาพนมรุ้งแล้ว ยังจะได้ชมและรับพลังศักดิ์สิทธิ์จากดวงอาทิตย์ขึ้นตรงสาดแสงส่องผ่าน 15 ช่องประตู ปราสาทพนมรุ้ง บนอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ต.ตาเป๊ก อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ในระหว่างวันที่ 3 - 5 เมษายน 2568 ตั้งแต่เวลาประมาณ 05.50 ถึงเวลา 06.10 น. ตามที่นักดาราศาสตร์ได้คำนวณและคาดการณ์ไว้ ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์ทางธรรมชาติหนึ่งเดียวในโลก เพื่อเสริมสิริมงคลแก่ชีวิตตามความเชื่ออีกด้วย
ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่หาชมได้ยาก 1 ปี จะมีให้ชมเพียง 4 ครั้งเท่านั้น ซึ่งจะมีปรากฏการณ์มหัศจรรย์ดวงอาทิตย์ตกตรง 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง 2 ครั้ง ในระหว่างวันที่ 5-7 มีนาคม และระหว่างวันที่ 6-8 ตุลาคม และดวงอาทิตย์จะขึ้นตรง 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง อีก 2 ครั้ง ในวันที่ 3-5 เมษายน และวันที่ 8-10 กันยายนของทุกปี
จึงขอเชิญชวนประชาชนและนักท่องเที่ยว มาเที่ยวชมงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง และเฝ้ารอชมปรากฏการณ์มหัศจรรย์และรับพลังแสงอาทิตย์ที่สาดส่องผ่าน 15 ช่องประตู เพื่อเสริมสิริมงคลให้กับตนเองในวันเวลาดังกล่าว
สำหรับปราสาทพนมรุ้ง เป็นเทวสถานในศิลปกรรมขอมแห่งเดียวในโลกที่มีสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติ ผสมผสานภูมิปัญญาด้านสถาปัตยกรรมการก่อสร้างปราสาทให้แสงอาทิตย์ส่องตรง 15 ช่องประตูผ่านศิวะลึงค์ที่เปรียบเสมือนองค์พระศิวะ ซึ่งตั้งอยู่ภายในปรางค์ประธานของปราสาทพนมรุ้ง เปรียบเสมือนเขาไกรลาส บนสรวงสวรรค์.