แนะสร้าง ”Demand Side” เร่งแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ
ในการเวทีเสวนาเรื่อง “ปลาหมอคางดำ” (Sarotherodon melanotheron) เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมท่านหนึ่ง กล่าวถึงปลาหมอคางดำอย่างเข้าใจปัญหา ว่า เรื่องปลาหมอคางดำเป็นวาทะกรรมที่ไม่ใช่เรื่องใหม่แค่ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา แต่ได้ยินเรื่องนี้กันมาไม่น้อยกว่า 4 ปีแล้ว หากช่วงเวลาที่ผ่านมามีการผนึกกำลังกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ในการเสนอแนวคิดและนวัตกรรมในการปัญหา ปลาหมอคางดำที่อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติคงร่อยหรอแทบไม่เหลือคงถูกควบคุมโดยมนุษย์เรียบร้อย แต่ทุกวันนี้การแก้ปัญหายังวนเวียนอยู่เรื่องเดิมคือหาตัวคนนำเข้า
วันนี้ คนไทยรู้จักปลาหมอคางดำดีขึ้น เป็นปลาที่รับประทานได้แม้จะมีเนื้อน้อยกว่าปลานิลหรือปลาทับทิม แต่สามารถนำไปเป็นอาหารและใช้ประโยชน์ได้ไม่ต่างจากปลาชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะนำไปแปรรูปเป็น ปลาป่น (มีโปรตีนสูงกว่าปลาน้ำจืดทั่วไป) น้ำหมักชีวภาพ (เป็นปุ๋ยสำหรับสวนยางหรือพืชสวน) รวมถึงเมนูอาหารต่างๆ ก็ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเพิ่มมูลค่าและรองรับปลาหมอคางดำที่จับมาได้ เช่น ปลาแดดเดียว ปลาหวาน น้ำพริกปลาแห้ง น้ำปลา ปลาหยอง ข้าวเกรียบปลา ผงโรยข้าว ไส้อั่ว ขนมจีนน้ำยา ซึ่งมีทั้งเมนูที่ทำรับประทานได้ในครัวเรือนและส่งเสริมให้เป็นรายได้ของวิสาหกิจชุมชน
การสร้างความต้องการบริโภค (Demand Side) ให้สูงขึ้น เป็นอีกหนึ่งทางออกใหญ่ของปลาหมอคางดำในวันนี้ โดยเฉพาะการนำไปทำเป็นอาหารคน เน้นเรื่องรสชาติให้อร่อยถูกปากผู้บริโภค บรรจุภัณฑ์ทันสมัย รับประทานง่าย การทำการตลาดสมัยใหม่ที่ให้ความรู้ทางวิชาการของปลาและคุณค่าทางโภชนาการดีต่อสุขภาพ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เมื่อผลิตภัณฑ์ได้รับความนิยม ก็จะเป็นผลดีต่อการนำปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดของปลาได้มากขึ้น
สำคัญที่สุดขณะนี้ คือ ต้องหาผู้เชี่ยวชาญทั้งแปรรูปและผลิตอาหารตัวจริง เพื่อรังสรรค์อาหารที่ตรงปก รสอร่อย ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดทุกกลุ่ม ซึ่งในข้อนี้ภาครัฐจำเป็นต้องส่งเสริมหรือสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตอาหารนำปลาหมอคางดำไปพัฒนามากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อประสบความสำเร็จในการสร้าง Demand Side แล้ว ต้องไม่ลืมหลักการสำคัญของการตลาดคือสมดุลอุปสงค์-อุปทาน ของปลาหมอคางดำที่จับมาได้และนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันได้ต้องเพียงพอต่อการผลิต เช่น แปรรูปเป็นปลาป่น น้ำปุ๋ยหมัก และผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ รัฐบาลอาจจะต้องมีมาตรการการสนับสนุน (Incentive) ให้กับผู้ประกอบการ เพื่อจูงใจให้ทำการผลิตอย่างต่อเนื่อง
ส่วนการนำไปแปรรูปเป็นเมนูอาหารต่างๆ ต้องมีการทดลองผลิตและหาเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อให้ผลิตภัณฑ์อาหารหรือเมนูที่ทำออกมีรสอร่อย ถูกปากผู้บริโภค ที่สำคัญควรให้ความรู้กับผู้ผลิตในการเคลื่อนย้ายตามหลักวิชาการ คือการเคลื่อนในลักษณะปลาไม่มีชีวิต ในรูปแบบของปลาแช่เย็นหรือแช่แข็งเท่านั้น เพื่อใช้ปลาหมอคางดำเป็นวัตถุดิบอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดจากการ “พาไปของคน” โดยผลิตภัณฑ์จากปลาหมอคางดำควรมีการทำการตลาดไว้รองรับด้วย เพื่อสร้างการรับรู้และความนิยมในการบริโภค
ปัจจุบันปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำเดินหน้าตามแนวทางของกรมประมง “จับอย่างบ้าคลั่ง” สามารถลดปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำในจังหวัดจันทบุรี ยืนยันว่าจากการสุ่มตรวจสอบปลาหมอคางดำที่ตำบลบางกระไชย อำเภอแหลมสิงห์ ใน 2 หมู่บ้าน 3 สัปดาห์ติดต่อกัน ได้ปลาหมอคางครั้งละ 5-8 ตัวเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นปลาทะเลชนิดอื่น นับเป็นเรื่องดีที่ความหลากหลายของพันธุ์ปลาช่วยกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำ
เห็นได้ว่าการสร้าง Demand Side เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยในการเร่งจับปลาและแก้ปัญหาปลาหมอคางในระยะยาว ซึ่งจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนให้ถึงเป้าหมายภายใต้แผนปฏิบัติการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ปี พ.ศ. 2567 – 2570 ของกรมประมงในการเร่งต่อยอดคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นทางเลือกในการใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำให้ได้มากที่สุด
โดย...เอมอร อัมฤก นักวิชาการอิสระ