วธ. ชื่นใจ ”ลอยกระทงไทย” เงินสะพัด 8.3 พันล้าน ต่างแห่เที่ยวไทย
กระทรวงวัฒนธรรม เผยภายหลังงานลอยกระทงทั่วประเทศ มียอดนักท่องเที่ยวรวม 6.6 ล้านคน พบการใช้จ่ายช่วงเทศกาลลอยกระทงสูงขึ้น มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 8299 ล้านบาท สนองนโยบายการผลักดัน Soft power เทศกาลไทยสู่ World Event เป็นหมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลกชัดขึ้น
เมือวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผย ว่า ภายหลังรัฐบาลโดยกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้รณรงค์จัดงานส่งเสริมประเพณีลอยกระทง ประจำปี 2567 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิด “ลอยกระทง วิถีไทย ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” โดยมีหมูเด้งเป็นพรีเซนเตอร์เชิญชวนชาวไทยละชาวต่างชาติไปเที่ยวงานลอยกระทง เพื่อผลักดัน Soft power เทศกาลลอยกระทงของไทย ให้เป็น World Event หมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยขอให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดและสภาวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมกับภาคีเครือข่ายรณรงค์ ส่งเสริมการจัดงานและรายงานผลการจัดงานส่งเสริมประเพณีลอยกระทงทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร 5 จังหวัด อัตลักษณ์ (เชียงใหม่ สุโขทัย ตาก ร้อยเอ็ด สมุทรสงคราม) และ 8 เมืองน่าเที่ยว (ลำปาง ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ภูเก็ต) รวมทั้ง ทุกจังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ภาพรวมทั้งประเทศมีจำนวนนักท่องเที่ยวช่วงเทศกาลลอยกระทงปีนี้ ประมาณ 6.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.1 ล้านคน จากปี 2566 ที่มีจำนวน 2.5 ล้านคน สร้างมูลค่าการใช้จ่ายสูงถึง 8299 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2299 ล้านบาท หรือ 38 % จากปี 2566 ที่มีรายได้ 6000 ล้านบาท
นางสาวสุดาวรรณ เปิดเผยอีกว่า งานลอยกระทงกว่าที่จัด ณ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาร่วมงานจำนวนมากกว่า 58500 คน ทำให้ทุกพื้นที่ของวัดอรุณวราราม ราชวรมหาวิหาร เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว เกิดการจับจ่ายใช้สอยในพื้นที่เป็นจำนวนมาก และยังพบว่า ปีนี้ผู้มาลอยกระทงมีความตระหนักและให้ความสำคัญกับการลอยกระทงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้กระทงที่เป็นวัสดุธรรมชาติหรือสามารถนำกลับมาใช้ใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยจากรายงานของสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ได้จัดเก็บกระทงจำนวนทั้งสิ้น 514590 ใบ เป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ 506320 ใบ (คิดเป็น 98.39 %) และกระทงที่ทำจากโฟม 8270 ใบ (คิดเป็น 1.61 %) เมื่อเทียบกับปี 2566 ซึ่งจัดเก็บได้ 639828 ใบ พบว่าจำนวนกระทงลดลง 125238 ใบ หรือลดลงประมาณ 19.57 % และยังพบว่าประชาชนลอยกระทงดิจิทัลหรือลอยออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ในบรรยากาศเสมือนจริงของสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร ทั้ง 34 แห่ง และริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไอคอนสยาม มีประชาชนร่วมลอยกระทง จำนวน 36832 ใบ ส่วนการลอยกระทงดิจิทัลในพื้นที่ 4 จุด มีจำนวน 10885 ใบ
สำหรับการจัดงานในพื้นที่ 5 จังหวัดอัตลักษณ์ ได้แก่ งานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จ.สุโขทัย งานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีป 1000 ดวง จ.ตาก งานประเพณีเดือนยี่เป็ง จ.เชียงใหม่ ประเพณีลอยกระทงกาบกล้วยเมืองแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม และประเพณีสมมาน้ำ คืนเพ็ง เส็งประทีป จ.ร้อยเอ็ด พบว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยว เดินทางเข้าพื้นที่จัดงานทั้ง 5 จังหวัดอัตลักษณ์ กว่า 1 ล้านคน มีมูลค่าการใช้จ่ายรวมกว่า 2823 ล้านบาท โดยงานลอยกระทงของจังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนนักท่องเที่ยวและมีรายได้สูงเป็นอันดับ 1 มูลค่ากว่า 2600 ล้านบาท เนื่องจากเป็นพื้นพื้นที่ยอดนิยมของคนไทย และเริ่มมีสภาพอากาศที่เย็นลง ผนวกกับรูปแบบการจัดงานที่มีอัตลักษณ์และสวยงาม เป็นประเพณีวัฒนธรรมที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน
“ความสำเร็จของการรณรงค์ปีนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่ร่วมบูรรณาการตามมาตรการต่าง ๆ รวมถึงการช่วยกันเผยแพร่องค์ความรู้และข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่เหมาะสมในประเพณีลอยกระทงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้องขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่เดินทางไปท่องเที่ยวช่วงเทศกาลลอยกระทง และให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในปีนี้ด้วย ทั้งนี้เชื่อว่า ปีต่อ ๆ ไป คาดว่า เทศกาลลอยกระทงของไทย จะพัฒนาไปสู่ World Event เป็นหมุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวทั่วโลกได้อย่างแน่นอน” นางสาวสุดาวรรณ กล่าว