เมื่อ : 11 ธ.ค. 2567

วันนี้ขอมอง “ปลาหมอคางดำ” (Sarotherodon melanotheron) ผ่านข้อมูลที่มีการเผยแพร่ในหลายช่องทางตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ทั้งจากสื่อมวลชน เกษตรกร-ชุมชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำ ด้วยคำถามว่าข้อเท็จจริงของใครที่น่าเชื่อถือมากที่สุด เพราะต่างคนต่างมีมุมมองตามพื้นฐานความรู้และความเชื่อของตน และที่สำคัญที่สุดยังไม่การพิสูจน์อย่างเป็นทางการว่า ปลาหมอคางดำที่แพร่กระจายอยู่ในขณะนี้ มาจากแหล่งเดียวกันกับที่บริษัทเอกชนผู้ขออนุญาตนำเข้าเพียงรายเดียว หรือเป็นปลาที่ถูกลักลอบนำเข้ามาแบบผิดกฎหมายจากหลักฐานการส่งออกของทางราชการที่เปิดเผยต่อสาธารณชน

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมสัตว์น้ำ ให้ข้อมูลการพิสูจน์หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ของต้นตอปลาหมอคางดำที่ระบาดในประเทศไทย เป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและยุติธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งในประเด็นนี้อาจมีข้อจำกัดหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและการนำข้อมูลมาใช้ เช่น การตรวจสอบและวิเคราะห์ทางพันธุกรรม ด้วย DNA barcoding ของปลาหมอคางดำที่ระบาดในปัจจุบัน ควรดำเนินการด้วยจำนวนยีนที่มากขึ้น เช่น control region (D-loop) cytochrome b และ/หรือ cytochrome oxidase subunit 1 (COI) จะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการระบุสายพันธุ์ปลาหมอคางดำ แทนการอ้างอิงจากข้อมูลพันธุกรรมของปลาหมอคางดำที่ระบาดในอดีตเพียงอย่างเดียว ซึ่งไม่สมบูรณ์ทั้งในแง่ที่มาของตัวอย่างที่ทำการศึกษา ลำดับนิวคลีโอไทด์ และความถูกต้องในการแปลผลการทดลองที่ได้ ทำให้ไม่สามารถระบุแหล่งที่มาของปลาหมอคางดำที่เคยระบาดในอดีต และปลาที่กำลังระบาดในปัจจุบันของประเทศไทยได้ 

 

นอกจากนี้ ฐานข้อมูลพันธุกรรม (genetic database) ของปลาหมอคางดำที่ประเทศไทยที่มีอยู่ขณะนี้ยังไม่สมบูรณ์ มีตัวอย่างอ้างอิงน้อย โดยใช้ตัวอย่างปลาหมอคางดำที่พบในแหล่งน้ำปี 2560 ในการเทียบเคียง DNA โดยไม่มีตัวอย่างปลาที่มีการนำเข้าในปี 2553 รวมทั้งตัวอย่างปลาที่ระบาดในปัจจุบัน ซึ่งหากสามารถเทียบ DNA ของปลาหมอคางดำที่เคยระบาดในอดีต และปลาหมอคางดำที่กำลังระบาดในปัจจุบัน จะทำให้การพิสูจน์พันธุกรรมที่มา (origin of stocks) มีความน่าเชื่อถือ และมีความสมบูรณ์เพียงพอ แม้ว่าจะไม่มีตัวอย่างปลาที่มีการนำเข้าในปี 2553 ก็ตาม

การพิสูจน์ข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์สำหรับปลาหมอคางดำ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือวิเคราะห์และเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มความถูกต้องแม่นยำ ตัวอย่างเช่น การตรวจสอบระดับความหลากหลายทางพันธุกรรมของปลาหมอคางดำในประเทศไทย กับการพิสูจน์แหล่งที่มาของปลาหมอคางดำต้นตอของการระบาด ต้องใช้ชนิดของเครื่องหมายดีเอ็นเอที่ต่างกัน และควรมีการจัดทำข้อมูลการเก็บตัวอย่างและข้อมูลอื่นๆ 

 

ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ รวมถึงแหล่งที่มาของตัวอย่าง (พิกัดภูมิศาสตร์ละเอียด รวมทั้งลักษณะพื้นที่ของแหล่งน้ำเปิดหรือแหล่งน้ำปิด เช่นบ่อกุ้ง บ่อปลาร้าง หรือเป็นปลาจากการเลี้ยง) วันเวลาและขนาดของตัวอย่างปลา (ปลาหมอคางดำมีพฤติกรรมการรวมฝูงของปลาจากครอบครัวเดียวกันหรือเป็นเครือญาติกัน การเก็บตัวอย่างลูกปลาหรือปลาขนาดสมบูรณ์พันธุ์ที่อยู่ในฝูงเดียวกันมาตรวจสอบพันธุกรรม อาจได้ปลาจากครอบครัวเดียวกัน) และประวัติการเคลื่อนย้ายปลา (เช่นปลาหมอคางดำจากแหล่งน้ำที่ติดต่อกันอาจมีพันธุกรรมที่แตกต่างกัน ในขณะที่ปลาจากแหล่งน้ำที่ไม่ติดต่อกับแหล่งระบาดเริ่มต้นมีพันธุกรรมที่เหมือนกัน เนื่องจากการเคลื่อนย้าย) 

 

ปัจจัยดังกล่าวข้างต้น มีผลต่อการแปลผลการทดลองที่ได้ การสร้างฐานข้อมูลพันธุกรรมที่ครอบคลุม จะทำให้มาตรฐานการพิสูจน์หลักฐานมีความน่าเชื่อถือในทุกขั้นตอน ซึ่งจะเป็นอีกทางหนึ่งในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงทั้งหมด การที่ไม่มีตัวอย่างเปรียบเทียบที่ครอบคลุมการระบาดในปัจจุบันที่เพียงพอ หรือตัวอย่างปลาหมอคางดำชุดที่มีการนำเข้า อาจทำให้ผลการพิสูจน์ที่มาไม่สามารถชี้ชัดได้ในทางกฎหมาย

 

ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการตรวจสอบพิสูจน์หลักฐานความถูกต้องของการส่งออกปลาหมอคางดำของประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2556-2559 ของบริษัทผู้ส่งออก 11 ราย จำนวน 320000 ตัว ไปยัง 17 ประเทศ ทั้งที่มีเอกสารราชการยืนยันว่าเป็นการส่งออกปลาหมอสีคางดำ โดยไม่มีการขออนุญาตนำเข้า หากแต่เป็นการชี้แจงของบริษัทผู้ส่งออกจำนวน 6 ราย รวมถึงการยอมรับของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องว่าเป็นการลงชนิดของปลาที่ส่งออกในเอกสารผิดพลาดทั้งหมด แต่ไม่มีการสอบสวนสาเหตุของความผิดพลาดดังกล่าว

ความร่วมมือกันแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ด้วยการกำจัดปลาให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญและควบคุมการแพร่กระจายของปลาให้อยู่ในพื้นที่จำกัด มีความสำคัญมากกว่าการถกเถียงกันว่าใครเป็นคนนำเข้าปลาหมอคางดำอย่างถูกกฎหมาย หรือลักลอบนำเข้ามาในประเทศของเรา ตามแผนปฏิบัติการควบคุมปลาหมอคางดำที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงวางไว้ 7 มาตรการ 

 

ปัจจุบันได้ดำเนินการแล้ว 5 มาตรการ ประกอบด้วย 1. การจับปลาออกจากแหล่งน้ำให้มากที่สุดและเร็วที่สุด 2. การปล่อยปลาผู้ล่าเพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ 3. การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดจากแหล่งน้ำไปใช้ประโยชน์ 4. การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน 5. การให้ความรู้กับประชาชนการสังเกตระวังป้องกัน เพื่อเดินหน้าสู่มาตรการที่ 6 ตามแผนระยะกลางและระยะยาวโดยการใช้เทคโนโลยีด้านการเหนี่ยวนำโครโมโซมปลาหมอคางดำ เพื่อสร้างลูกปลาที่เป็นหมัน ไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้อีกต่อไป และขั้นตอนสุดท้ายคือการฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยมีกรมประมงเป็นแกนหลัก ร่วมกับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนของประเทศ เพื่อให้การดำเนินการบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้

 

โดย...สมสมัย หาญเมืองบน นักวิชาการอิสระ