เมื่อ : 07 ม.ค. 2568

ในช่วงปี  2567 ที่ผ่านมา กรมประมงและอีกหลายภาคส่วน ร่วมด้วยช่วยกันวางมาตรการต่างๆ ในการกำจัดปลาหมอคางดำได้อย่างรอบด้าน อาทิ การเร่งกำจัดปลาขนาดใหญ่ออกจากแหล่งน้ำ แล้วปล่อยปลานักล่าอย่าง ปลากะพงและปลาอีกงลงไปเก็บกวาดลูกปลาหมอคางดำต่อ รวมถึงมาตรการนำปลาที่จับได้มาใช้ประโยชน์ แปรรูปเป็นอาหารหลากหลายเมนู ตลอดจนโมเดลนวัตกรรมการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำที่เรียกว่า “สิบหยิบหนึ่ง” เป็นโมเดลช่วยเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพิ่มผลผลิตโดยควบคุมปลาหมอคางดำและบูรณาการแนวทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน จนทำให้ภาพรวมของปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติลดลงอย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่ผลผลิตสัตว์น้ำของเกษตรกรเพิ่มขึ้น

 

ประมงจังหวัดหลายแห่งพูดตรงกันถึงปริมาณปลาที่ลดลง เช่น  ประมงจังหวัดสมุทรสาคร ที่ระบุในจังหวัดสมุทรสาคร กำจัดปลาหมอคางดำได้แล้ว 70-80% ของปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำ และปริมาณปลาที่จับได้มีมากถึง กว่าล้านกิโลกรัม จนถึงวันนี้ชาวประมงจับปลาหมอคางดำได้ลดลง ขณะเดียวกันปัจจุบันยังได้เห็นฝูง “ปลากระบอก” ซึ่งเป็นสัญญาณถึงการลดลงของปลาหมอคางดำออกมายืนยันอีกด้วย

 

เขาเล่าว่าเมื่อจับปลาตัวใหญ่ๆ ได้แล้ว มาตรการต่อมาคือการใช้ ‘ปลาผู้ล่า’ เช่นปลากะพง ลงไปช่วยกินลูกปลาหมอคางดำต่อ เป็นการกวาดล้างทำความสะอาดอีกยกหนึ่ง  นอกจากนี้ กรมประมงยังมีมาตรการ ‘4 จ.’ เจอ แจ้ง จับ และจบ ให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตา แจ้งพิกัดปลาหมอคางดำให้กับประชาชน ช่วยทางราชการอีกทางหนึ่ง ในอนาคตจึงจะเริ่มฟื้นฟูระบบนิเวศ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมประมง จริงอยู่ที่ธรรมชาติมันจะฟื้นฟูตัวเองได้ แต่ถ้ามีมาตรการรัฐช่วยฟื้นฟูด้วยอีกแรงก็ยิ่งดี ซึ่งกรมประมงมีการหน่วยผลิตที่จะสนับสนุนพันธุ์ปลาเพื่อเติมความอุดมสมบูรณ์กลับไปอยู่แล้ว

 

ด้านประมงจังหวัดสมุทรสงคราม อธิบายในทิศทางเดียวกันว่า ทุกวันนี้ปลาหมอคางดำที่จับได้จำนวนลดลง และปลามีขนาดเล็กลง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปลาที่เป็นพ่อแม่พันธุ์หายไปจากแหล่งน้ำ ขณะนี้ จังหวัดสมุทรสงครามจะเน้นส่งเสริมการลดจำนวนปลาในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร และส่งเสริมการนำปลามาใช้ประโยชน์และการบริโภคให้มากขึ้น เป็นแนวทางที่จะช่วยควบคุมจำนวนปลาได้ผลลัพธ์ที่ดี

 

ล่าสุด ที่นี่ใช้โมเดล “สิบหยิบหนึ่ง” ประสานความร่วมมือรัฐ เอกชน และเกษตรกร  ในลักษณะสนับสนุนลูกพันธุ์ปลากะพงขาวให้เกษตรกรที่ร่วมโครงการนำไปปล่อยกำจัดปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงเกษตรกร และจะสร้างความยั่งยืนให้ระบบโดยเมื่อเวลาผ่านไป เกษตรกรจะคืนปลานักล่าส่วนหนึ่ง ให้ประมงจังหวัดนำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติต่อไป นับเป็นการการบูรณาการแนวทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน ซึ่งสามารถช่วยเกษตรกรเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำอย่างเห็นได้ชัด จากคำยืนยันของเกษตรกรในพื้นที่หลายราย

 

นอกจากนี้ยังจัดตั้ง ’กองทุนกากชา’ ขึ้นเพื่อช่วยให้เกษตรกร ยืมกากชาฟรี เพื่อนำไปใช้กำจัดปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ลดต้นทุนการผลิต และได้ผลผลิตอย่างเต็มที่ เรียกว่าเดินหน้าเต็มกำลังในการจัดการปริมาณปลาหมอคางดำ ผ่านการจัดมาตรการทุกรูปแบบ รวมถึงแปรรูปเป็นน้ำปลา ตลอดจนเมนูอื่นๆอีกมาก เป็นการจัดการปลาหมอคางดำอย่างครบวงจรและยั่งยืน ซึ่งในปี 2568 นี้ ประมงจังหวัดทุกแห่งที่พบปลาหมอคางดำ จะยังคงเดินหน้าดำเนินกิจกรรมกำจัดปลานี้อย่างต่อเนื่องต่อไป

 

ปลาหมอคางดำลดลงมากจากการเอาจริงของรัฐเป็นคำกล่าวที่ไม่ผิดเพี้ยน แต่เหนืออื่นใดคือความร่วมมือร่วมใจของภาคเอกชน และตัวเกษตรกรเอง ที่ทุ่มเทเอาใจใส่ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของตน ตลอดจนชาวบ้านที่ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ขอเพียงอย่ามีคนใจร้ายหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ลักลอบนำปลาข้ามไปปล่อยในแหล่งน้ำอื่นๆ อีก ก็จะทำให้มาตรการรัฐสำเร็จได้เร็วยิ่งขึ้น ที่สำคัญ ธรรมชาติก็จะสร้างสมดุลได้เร็วขึ้นด้วย

 

โดย... ปิยะ นทีสุดา